ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ดีเอสไอส่ง ป.ป.ช.ฟัน'หมอวิทิต'อีกคดีผิดกฎหมายฮั้ว-ม.157 กรณีก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนล่าช้า ด้าน ปธ.บอร์ด อภ.ชี้อย่าด่วน สรุปรอผลประชุมวันนี้ ยันไม่มีใบสั่ง 'ประดิษฐ'ขู่หมอชนบทประท้วงหน้าบ้านนายกฯ เจอผิดวินัย

จากกรณีกระแสข่าวคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เตรียมประชุมในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นอกเหนือจากการพิจารณาผลการตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ อภ. ทั้งวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ทั้งความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนผลิตไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ส่งผลให้ นพ.วิทิตนัดสื่อเพื่อเปิดใจปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอ็นจีโอออกมาปกป้องและเตรียมเคลื่อนไหวหลังการประชุมนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงคืบหน้าการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า ได้ลงนามสรุปความเห็นส่งผลการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการพิจารณาไต่สวนในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของดีเอสไอ ที่มีนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอสไอ มีความเห็นเบื้องต้นว่า นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) เข้าข่ายกระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) มาตรา 11, 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งกรณีดังกล่าวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดีเอสไอต้องส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. นอกจากนี้ยังได้ส่งผลการตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ผู้ร้องให้รับทราบเช่นกัน

นายธาริตกล่าวว่า สำหรับการกระทำที่เข้าข่ายความผิดนั้นมี 3 ส่วน คือ 1.กรณีแบ่งซื้อ แบ่งจ้าง โดยเฉพาะงบประมาณในการออกแบบที่มีการขยายจากเดิมสำนักงบประมาณอนุมัติเพียง 8 ล้านบาท แต่ ผอ.อภ.ใช้งบประมาณสูงถึง 20 ล้านบาท หลังเปลี่ยนแปลงงบประมาณแล้วจึงมีการแบ่งสัญญาออกเป็น 4 สัญญา เข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกีดกันผู้เข้าแข่งขันราคาโดยไม่เป็นธรรม

ส่วนที่ 2.คือโครงการดังกล่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเชื้อตายซึ่งเป็นมาตรฐานระดับ 2 ขององค์การอนามัยโลก แต่ อภ.ได้เปลี่ยนเป็นการผลิตทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับ 2+ ขององค์การอนามัยโลก แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทาง อภ.เสนอเรื่อง กลับไปยัง ครม.เพื่ออนุมัติเห็นชอบอีกครั้ง และ 3.ประเด็นคือความล่าช้าในการสร้าง ที่สาเหตุ มาจากปรับแก้แบบ จากเดิมต้องการสร้างแบบเชื้อตาย ต่อมาต้องการสร้างโรงผลิตเชื้อเป็นด้วย จึงต้องมีการปรับแก้แบบให้รองรับทั้งสองระบบ และต้องรองรับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก แบบ 2+ ด้วย

นายธาริตยังกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนของทาง อภ.ยังมีอีกหลายประเด็นที่ดีเอสไอจะต้องดำเนินการ หากพบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำผิดเพิ่มเติม ดีเอสไอจะสรุปข้อเท็จจริงส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามในส่วน นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ยังไม่พบว่าเข้าข่ายการกระทำความผิด เนื่องจากรายงานการประชุม มีการติดต่อสอบถามและเร่งรัดเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงไม่ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า อภ.อาจมองว่าดีเอสไอเร่งสรุปกรณีดังกล่าวส่งผลต่อตำแหน่งของ นพ.วิทิต นายธาริตกล่าวว่า การที่ นพ.วิทิตจะหลุดหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง คงไม่เกี่ยวข้องกับดีเอสไอ เป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข เพราะผลสอบข้อเท็จจริงไม่ได้เสนอความเห็นต้องปลดออกจากข้อเท็จจริงไม่ได้เสนอความเห็นต้องปลดออกจากตำแหน่ง เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารของกระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการ อภ. ดีเอสไอ มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาเท่านั้น

นายธาริตกล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นพ.วิทิตได้เดินทางมามอบเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริง พนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบเอกสาร ดังกล่าวครบถ้วน บางส่วนเป็นเอกสารเหมือนกับเอกสารที่ดีเอสไอได้รับก่อนหน้านี้ ที่เคยมอบให้พนักงานสอบสวน ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดในเรื่องงบประมาณ หลังจากพิจารณาเอกสารชี้แจงแล้ว พนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่มีเพียงพอหรือหลักฐานในประเด็นข้อสงสัยได้ จึงมีความเห็นเสนอ ป.ป.ช.

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการประชุมวันที่ 17 พฤษภาคม เนื่องจากผลการประชุมจะมีอะไร และจะออกมาในรูปแบบใด ล้วนขึ้นอยู่กับกรรมการในบอร์ด ซึ่งมีดุลพินิจในการพิจารณาทั้งสิ้น ดังนั้น อย่าเพิ่งไปเดาว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครทราบ สมมุติว่าหากมีการพิจารณาเรื่องนี้จริงและจะมีบทลงโทษหรือไม่นั้น บอร์ด อภ.ย่อมสามารถตอบสังคมได้อยู่แล้ว

"ที่จะพูดคือในกรณีสมมุติว่า หากมีการพิจารณาลงโทษใครก็ตาม การลงโทษในเรื่องการทำงานหรืออะไรนั้น มีหลายขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องปลด แต่หากมีการลงโทษใดๆ หรือตัดสินใดๆ ออกมา ต้องมีเหตุผลรองรับ ไม่เช่นนั้นไปตัดสินเขาไม่ได้ เพราะจะเกิดการร้องขอความเป็นธรรม เป็นเรื่องปกติ แต่ทั้งหมดทั้งปวงอยากให้รอผลการประชุมก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ" นพ.พิพัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกดดันหรือไม่กับการประชุมบอร์ด เนื่องจากมีบางกลุ่มตั้งคำถามว่าเป็นการพิจารณาตามใบสั่งหรือไม่ นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า เหตุผลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเพราะต้องการทำประโยชน์ให้องค์กรและประเทศชาติ ไม่ได้เข้ามาเพื่อใคร และตั้งแต่ทำงานเป็นประธานบอร์ด อภ.ก็สอบถามงานมาตลอด และมีแผนเดินหน้าการนำเข้าและผลิตยาชื่อสามัญ หรือยาที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ายาต้นแบบ โดยมีแผนผลิตและนำเข้ายาสามัญ 20 รายการในปี 2556 โดยจะลดงบประมาณการนำเข้ายาราคาแพงได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท และในอนาคตยังมีแผนเพิ่มยาสามัญเป็น 50 รายการรวมทั้งหมด คาดว่าจะลดงบประมาณตรงนี้ได้ถึง 4,800 ล้านบาท การทำงานตรงนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างแท้จริง จึงย้ำว่าไม่ได้ทำงานเพื่อใคร แต่เข้าใจว่าเมื่อทำอะไรย่อมมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ แต่ทั้งหมดต้องเดินหน้าโดยอิงความถูกต้องเป็นหลักอะไรย่อมมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ แต่ทั้งหมดต้องเดินหน้าโดยอิงความถูกต้องเป็นหลัก

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวปลด นพ.วิทิตมาจากใบสั่งที่ไม่ชอบธรรมว่า ต้องไปดูว่าใครพูด และใบสั่งดังกล่าวมาจากแหล่งใด ต้องให้ชัดเจน ขอให้แสดงหลักฐานออกมา บางกลุ่มมองว่าเรื่องนี้เป็นเพราะตนที่ให้มีการตรวจสอบปัญหาต่างๆ ต้องถามว่าไปใช้อำนาจอย่างไร เพราะมีหน้าที่ให้นโยบายบอร์ด อภ.พิจารณา ส่วนบอร์ดมีคณะกรรมการสอบสวน ทำงานไปตามขั้นตอน ใครจะไปสั่งได้ ต่อให้สั่งไปแต่หากไม่ถูกต้อง บอร์ดก็กลัวถูกฟ้องร้องกลับ ดังนั้น ไม่ว่าบอร์ดจะพิจารณาอย่างไร ต้องมีหลักฐานเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกลุ่มแพทย์ชนบทระบุว่าจะเดินทางไปที่บ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ปลด นพ.ประดิษฐ และยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนแบบผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าแพทย์ชนบทมีสิทธิทำเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ เพราะนายกฯเป็นผู้บังคับบัญชา และบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัว หากมีการเข้าไปขู่หรือบุกเข้าไปที่บ้าน อยากให้พิจารณาเองว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ที่ผ่านมาตนให้สิทธิกลุ่มแพทย์ชนบทแสดงความคิดเห็นมามากพอสมควรแล้ว ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่าสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ เมื่อเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในกระทรวงจะไปค้านนโยบายแบบนั้นคงมีคนไม่เห็นด้วย หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องต่อจากนี้จะมีการดำเนินการตามขั้นตอน เพราะการแสดงออกต้องทำอย่างเหมาะสม

เมื่อถามว่า การดำเนินการตามขั้นตอนหมายถึงการเอาผิดทางวินัยหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า จะให้มีการตรวจสอบว่าการแสดงออกดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการลาราชการมาอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการกีดขวางการจราจรชุมนุมโดยสงบหรืออย่างไร อยากฝากให้พิจารณาว่า หากกระทำแบบนี้บ้านเมืองจะปกครองกันอย่างไร

นพ.จิระชาติ เรืองวัชรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จะมีการรวมตัวกันคัดค้านผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเดินทางมาชี้แจงนโยบาย พีฟอร์พี ในวันที่ 17 พฤษภาคม ที่โรงแรมไดมอนด์ จ.สุราษฎร์ธานี เพราะไม่รู้ว่าจะมาชี้แจงให้สิ้นเปลืองงบประมาณทำไม ทราบว่ากระทรวงจะจัดทุกภาค จำนวน 6 รุ่น ใช้เงินไม่น้อยกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ที่พักของผู้เข้าร่วมประชุมรุ่นละกว่า 500 คน คาดว่าต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ทั้งๆ ที่พีฟอร์พีคือยาพิษ ดังนั้น พวกตนจะแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 พฤษภาคม 2556