ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หลังจากที่มีข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล 148 ตัน การก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก โรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีโรงงานแมส โปรดักซ์ชั่น โดย 2 กรณีแรกนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ชี้มูลส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) รับไปพิจารณาต่อแล้ว ถึงแม้ในตอนนี้จะยังไม่มีบทสรุปว่าใครผิดใครถูกหรือไม่อย่างไร แต่ล่าสุดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ได้ประชุมลับและมีมติเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556  เลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า  บอร์ด อภ.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าท่าน ผอ.อภ.ได้บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้าง คือ อภ.เห็นควรเลิกจ้าง คือ ยุติสัญญาจ้างโดยจะนำเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นที่ทางบอร์ด อภ.มองคือเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารงาน โดยเห็นว่า ผอ.อภ. ไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ในการบริหารงาน ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีโรงงานวัคซีน การสำรองวัตถุดิบผลิตพาราเซตามอล จึงมีมติเอกฉันท์ให้ยุติสัญญาว่าจ้าง โดยหลักการจะนำเสนอ ครม.เห็นชอบตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุด

ตอนนี้ยังถือว่า นพ.วิทิต เป็น ผอ.อภ. อยู่หรือไม่?

ในหลักการตำแหน่ง ผอ.อภ.จะหมดสัญญาจ้างเมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบ แต่วันนี้บอร์ด อภ.มีมติให้ ผอ.อภ.หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่า ครม.จะมีมติ หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยที่ประชุมมีมติให้ ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รอง ผอ.อภ.รักษาการแทน จนกว่าจะสรรหา ผอ.อภ. คนใหม่ได้

การเลิกจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้หรือไม่?

จะไม่มีการจ่ายชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

กระบวนการภายหลังจากคณะกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งขึ้นมาสรุปผลแล้วจะดำเนินการอย่างไรกับผู้ที่เกี่ยวข้อง?

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน อภ.คนอื่น ๆ จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเพิ่มเติม ส่วนประเด็นที่เกี่ยวพันอื่น ๆ อาจส่งมอบให้ ดีเอสไอ หรือ ป.ป.ช. ตรงนี้ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด เพราะฝ่ายกฎหมายจะเข้ามาดู

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบกรณีวัตถุดิบพาราเซตามอล กรณีโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี และโรงงานแมส โปรดักซ์ชั่น กล่าวว่า ประเด็นวัตถุดิบพาราเซตามอล คณะกรรมการได้สอบข้อเท็จจริงโดยยึดถือข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2524 ร่วมกับเอกสารและหลักฐานพบว่า การเลือกใช้วิธีพิเศษไม่สอดคล้องกับระเบียบพัสดุ โดยการซื้อวัตถุดิบ 100 ตัน พบว่า มีการให้ข้อมูลก่อนการอนุมัติสั่งซื้อว่า ไม่มีแผนการผลิต ไม่มีสถานที่เก็บ และมีของเก่าเหลืออยู่กว่า 40 ตัน อีกทั้งได้มีการเลื่อนส่งมอบจากเดือน ธ.ค.ไปเป็น ก.พ.ของอีกปี  โดยการจัดซื้ออ้างความเร่งด่วน ต้องใช้สำหรับโรงงานแมส โปรดักซ์ชั่นซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง ซึ่งการปรับปรุงโรงงานก็ไม่เป็นไปตามสัญญา ยังไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถผลิตได้ ดังนั้นการตัดสินใจซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอล 100 ตันจึงมีความไม่รอบคอบ กลายเป็นภาระที่ อภ.ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบกว่า 100 ตัน เป็นเวลา 1 ปีเศษ  ขณะเดียวกันปัญหาความเชื่อมั่นวัตถุดิบมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ อภ. ถ้าไม่สามารถคืนได้ นำมาผลิตไม่ได้ มูลค่าของวัตถุดิบกว่า 20 ล้านบาทก็จะเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ และถ้าจะมีการทำลายก็จะมีปัญหาเรื่องการสูญเสียทรัพย์สินของ อภ.

ส่วนในเรื่องโรงงานแมส โปรดักซ์ชั่น เมื่อดูรายละเอียดที่ทำให้มีความล่าช้าไปเกือบ 2 ปี สัญญาแรกจะต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน มีการขยายรอบแรก 100 วัน และขยายรอบที่ 2 อีก 515 วัน เพิ่งส่งมอบงานเมื่อเดือน เม.ย.2556 จากความล่าช้าทั้งหมด เราพบในรายละเอียดว่ามีการต่อสัญญาภายหลังจากที่สัญญาได้สิ้นสุดลง 2 ครั้ง ตรงนี้ส่อให้เห็นว่าการบริหารสัญญาหรือการกำกับดูแลน่าจะไม่เป็นไปด้วยความรอบคอบทำให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงโรงงานจึงเป็นเหตุให้ อภ.ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโรงงานนี้ผลิตยาให้เป็นไปตามเป้าหมายในเชิงธุรกิจได้

สำหรับโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการและอยู่ภายใต้การติดตามดูแลของบอร์ด อภ.มาโดยตลอด ในเรื่องความขัดแย้ง คุณสมบัติของเครื่องปรับอากาศที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ อยู่ในขั้นตอนที่จะหาผู้รับผิดชอบและดำเนินการแก้ไข ดังนั้นจึงไม่มีความเห็นเพิ่มเติมกับเรื่องนี้

นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก กล่าวว่า  มติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2550 ได้อนุมัติให้ อภ.จัดตั้งโรงงาน  โดยปีงบประมาณ 2551 ได้ดำเนินการออกแบบปีงบประมาณ 2552 ได้ผู้รับจ้างแบ่งเป็น 2 สัญญา ทั้ง 2 สัญญาใช้เวลาทั้งสิ้น 540 วัน วันลงนามสัญญาคือ 18 ก.ย.2552 วันครบสัญญา 29 เม.ย.2554 จน ณ วันนี้ยังไม่เรียบร้อยก็ล่าช้าจริง ประเด็นที่ล่าช้ามี 3 ประเด็นคือ 1. เรื่องฐานรากต้องปรับใหม่ เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้าง จ.สระบุรี มีปัญหาน้ำใต้ดิน มีการยกพื้นขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นซึ่งสำนักงบประมาณก็อนุมัติแก้ไขฐานรากโดยใช้เวลาเพิ่มขึ้นสัญญาหนึ่ง 136 วันอีกสัญญา 90 วัน 2. น้ำท่วมขยายสัญญาละ 100 วัน ทั้ง 2 เหตุผลเป็นเหตุผลเชิงพื้นที่เป็นสิ่งที่ทุกคนประจักษ์

3. การทบทวนการออกแบบระหว่างก่อสร้าง ประเด็นนี้ อภ.คงจะต้องประสานกับผู้รับจ้างในการจะลงรายละเอียดการก่อสร้างให้ตรงตามแบบมาตรฐาน ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการถกเถียงกันว่าการทบทวนการออกแบบทำให้เกิดความล่าช้าที่จะขับเคลื่อนงาน ตรงนี้ผู้รับจ้างเสนอมา 700 กว่าวัน แต่ได้มีการประสานกันระหว่างกรรมการตรวจการจ้างของ อภ. กับผู้รับจ้างได้หักประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับ อภ.เป็นประเด็นของผู้รับจ้างเอง ทำให้มีการพิจารณาแล้วว่าต้องมีการขยายงาน ซึ่งประเด็นนี้ทางกรรมการตรวจการจ้างและอภ.ยอมรับว่าเป็นความล่าช้าของ อภ.เองที่ทำให้การสนับสนุนข้อมูลล่าช้าไปโครงการแรก 400 วัน โครงการที่สอง450 วัน ประเด็นนี้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องที่ อภ.จะต้องรับผิดชอบในการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะทำให้การออกแบบเพิ่มเติมในการก่อสร้างบรรลุอย่างรวดเร็วแต่เนื่องจากการให้ข้อมูลค่อนข้างล่าช้า เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าบทบาทของ ผอ.อภ.นั้นน่าจะใช้ศักยภาพในการบริหารงานให้สำเร็จลุล่วงไม่ให้เกิดความล่าช้า อย่างน้อยใน 400วันตรงนั้นน่าจะขับเคลื่อนไปได้เร็ว เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเบื้องต้น ผอ.อภ.มีส่วนร่วมรับผิดชอบที่จะทำงานให้งานล่าช้าออกไป

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. กล่าวว่า ไม่แปลกใจเพราะคาดเดาเอาไว้ก่อนแล้ว รู้สึกได้ว่าอันไหนปกติหรือไม่ปกติที่จะมาถึงเรา ก็ไม่ผิดความคาดเดา จากนี้ไปคงต้องไปปรึกษาทนายความก่อน ทั้งนี้สัญญาจ้างชัดเจนในตัวมันเองว่านายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้เสมอ ไม่ว่าจะบกพร่องหรือไม่บกพร่อง ไม่เหมือนข้าราชการที่สามารถอุทธรณ์ได้

 จากนี้จะไปทำอะไรต่อไป?

เมื่อถูกเลิกจ้างก็คงปรึกษาหารือกันว่าแนวทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ได้คิด เพราะเพิ่งทราบมติบอร์ด  อภ.

อยากสื่อสารอะไรไปยังคนที่อาจจะไม่เข้าใจและตัวท่านไม่มีโอกาสได้ชี้แจง?

เราก็คงต้องหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมในชั้นต่อไป แต่ที่ผ่านมายืนยันว่า ผม ทีมงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานด้วยความทุ่มเท เชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำ  บริสุทธิ์ใจ ไม่มีเรื่องทุจริตนอกหรือในแน่นอน ในความเชื่อของผมนะ แม้กระทั่งกรณีพาราเซตามอลทุกคนก็ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ส่วนกระบวนการยุติจะออกมาอย่างไร คนจะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไร แล้วแต่ดุลพินิจของแต่ละท่าน

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--