ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมายเหตุ - กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปรายงานผลการสืบสวนกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม มี รายละเอียด ดังนี้

1.ประเด็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 วงเงิน 1,411.70 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ในระดับอุตสาหกรรม ตามมาตรฐาน GMP ขององค์การอนามัยโลก โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ อภ. ตั้งแต่ปี 2551-2555 รวม 1,116,693,600 บาท แยกรายการ ดังนี้

1.ค่าก่อสร้างอาคารผลิต อาคารบรรจุ อาคารประกันคุณภาพ และอาคารสัตว์ทดลอง 303,687,000 บาท

2.ค่าก่อสร้างอาคารระบบสนับสนุนส่วนกลาง ไฟฟ้า น้ำ สุขาภิบาล ซ่อมบำรุง 101,980,500 บาท

3.ค่าออกแบบอาคารและโรงงานผลิตวัคซีน 8,800,000 บาท

4.ค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 4,750,000 บาท

5.ค่าครุภัณฑ์ 607,476,100 บาท

6.ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมการก่อสร้าง การจัดหาติดตั้งเครื่องจักร 50 ล้านบาท

7.อาคารผลิตไข่ไก่ฟัก 10 ล้านบาท

8.ค่าใช้จ่ายรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 30 ล้านบาท

ต่อมา อภ.ขอความเห็นจากคณะกรรมการ อภ.เพื่ออนุมัติวงเงิน 20 ล้านบาท ในการจ้างออกแบบ Detail Design กำหนดราคาค่าออกแบบและกำหนดราคากลางออกแบบ 17,485,000 บาท โดยอ้างว่า สำนักงบประมาณจัดสรรวงเงินไม่เพียงพอ ประกอบกับเป็นโครงการขนาดใหญ่และต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อน ถ้ามีผู้ออกแบบเพียงรายเดียวจะไม่สามารถดำเนินการได้ ทันเวลาที่กำหนด ซึ่ง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. เห็นชอบที่จะแยกดำเนินการ 4 รายการ มี 1.อาคารผลิต 2.อาคารบรรจุ 3.อาคารประกันคุณภาพและ อาคารสัตว์ทดลอง 4.อาคารสนับสนุนส่วนกลาง ทั้งนี้ ในการจัดจ้าง อภ.กำหนดเงื่อนไขคัดเลือกว่า ผู้ยื่นราคาต่ำสุดได้ออกแบบรายการที่ 1 จะไม่มีสิทธิยื่นรายการ ที่เหลือ ปรากฏว่าผลการจัดจ้างออกแบบทั้ง 4 ราย มีค่าจ้างรวม 9,380,000 บาท

จากข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าสำนักงบประมาณจัดสรรวงเงินค่าออกแบบอาคารและโรงงานผลิตวัคซีน 8,800,000 บาท แต่ อภ. ขอความเห็นชอบวงเงินนอกงบประมาณเพื่อดำเนินการออกแบบ 20 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 รายการ ดังนี้

สัญญาที่ 1  จ้างออกแบบอาคารบรรจุ โดยว่าจ้างบริษัทคลีนแอร์ โปรดักท์ จำกัด และบริษัทเอ็นจิเนียริ่ง เทคโนโลยี คอนซัลแตนท์ จำกัด วงเงิน 2,182,800 บาท

สัญญาที่ 2  จ้างออกแบบอาคารระบบ สนับสนุน ส่วนกลาง ไฟฟ้า น้ำสุขาภิบาล ซ่อมบำรุงและอื่นๆ โดย ว่าจ้างบริษัทคอนซัลแตนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด วงเงิน 2,411,000 บาท

สัญญาที่ 3  จ้างออกแบบอาคารประกันคุณภาพ และสัตว์ทดลอง โดยว่าจ้างบริษัทสแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทไอ อีซีเอ็ม จำกัด วงเงิน 2,107,900 บาท

สัญญาที่ 4  จ้างออกแบบอาคารผลิต โดยว่าจ้างบริษัทไดนามิค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และ Technical Competence Teampte.Ltd วงเงิน 2,499,000 บาท

ซึ่งการแยกสัญญาจ้างออกแบบ อภ. ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีการพิเศษ นอกจากนี้ การที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณแยกโครงการส่วนที่ 1 ก่อสร้างอาคารผลิต อาคารบรรจุ อาคารประกันคุณภาพ และอาคารสัตว์ทดลอง วงเงิน 303,687,000 บาท และส่วนที่ 2 ก่อสร้างอาคารระบบสนับสนุนส่วนกลาง ไฟฟ้า น้ำ สุขาภิบาล ซ่อมบำรุง วงเงิน 101,980,500 บาท เป็น 2 รายการ การจ้างออกแบบควรจ้างเป็นสัญญาเดียว เนื่องจากสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเป็นค่าออกแบบอาคารและโรงงานผลิตวัคซีน วงเงิน 8,800,000 บาท หรือจ้างออกแบบเป็น 2 สัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างดังกล่าว แต่กลับนำเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปเปลี่ยนแปลงเป็นรายการครุภัณฑ์

ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าว เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 กล่าวคือ กำหนดเงื่อนไข โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือ ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคา รายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

2.ประเด็นความเหมาะสมในการก่อสร้าง ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำให้การของ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ประกอบกับรายงานการประชุมคณะกรรมการ อภ. ครั้งที่ 3 ปีงบประมาณ 2556 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และรายงานการประชุมคณะกรรมการ อภ. ครั้งที่ 4 ปีงบประมาณ 2556 ลงวันที่ 28 มกราคม 2556 กล่าวว่า โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ครม.ได้อนุมัติให้ก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดย อภ.เสนอโครงการ กำหนดการผลิตวัคซีนตามฤดูกาล และเมื่อเกิดโรคระบาด ครั้งแรกได้เสนอต่อ ครม. อภ.ได้ออกแบบเป็นลักษณะมาตรฐาน 2 จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการ Design Review ใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปโดยต้องของบประมาณเพิ่ม กรณีนี้ อภ.จะต้องดำเนินการโดยเสนอ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ คือเปลี่ยนระบบจาก 2 เป็น 2+ ซึ่งกรณีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อภ.ได้เสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณา กรณีดังกล่าวเข้าข่ายขัดมติ ครม. ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว และถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อาญา 157

3.ประเด็นความล่าช้าในการก่อสร้าง ปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่ นายพิพัฒน์ ยิ่งเสรีประธานกรรมการ อภ. แต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551 รายงานสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ดังนี้ 1.กรณีแก้ไขแบบฐานรากและแก้ไขแบบโดยยกระดับความสูงอาคาร โดยมีการเพิ่มวงเงิน 3,945,039.11 บาท และขยายระยะเวลา 136 วัน เนื่องจากเหตุผลทางด้าน ความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร

2.กรณีเนื่องจากขยายเวลาเหตุอุทกภัย 40 วัน และฟื้นฟูหลังน้ำลด 60 วัน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 รวมขยายระยะเวลา 100 วัน 3.กรณี Design Review ขยายระยะเวลา 400 วัน โดยมีสาเหตุ คือกำหนดไว้ใน TOR เนื่องจากเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีความซับซ้อน อภ.ยังไม่มีประสบการณ์และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก อีกทั้งแต่ละอาคารมีการออกแบบโดยบริษัทที่ปรึกษาแตกต่างกัน เพื่อให้ดำเนินงานของโรงงานสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องทำ Design Review รวมทั้งให้สามารถปรับเพื่อใช้ผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นรองรับการระบาดใหญ่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก อีกทั้งปรับให้สอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมและสอดคล้องเหมาะสมกับที่จะต้องใช้ในโรงงานตามคำแนะนำของที่ปรึกษาควบคุมงาน

นอกจากนี้ ตามข้อสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้สรุปสาเหตุสำคัญ ซึ่งทำให้ไม่สามารถก่อสร้างตามกำหนด คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการจากเดิมให้รองรับการผลิตวัคซีนเชื้อตายได้ เป็นการรองรับผลิตเชื้อตายและเชื้อเป็นในกรณีที่เกิดการระบาดใหญ่ในประเทศ รวมทั้งปรับมาตรฐานให้เข้ากับมาตรฐานองค์การอนามัยโลกเพิ่มขึ้นจากเดิมระดับ BSL level 2 เป็นระดับ BSL level 2 plus

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคณะกรรมการตรวจการจ้างได้เสนอราคาที่มีการแก้ไขการ Design Review เป็นเงิน 39,152,325.76 บาท ซึ่งคิดตามสัญญาใน BOQ แต่บริษัทผู้รับจ้างแจ้งว่าเนื่องจากโครงการล่าช้ากว่า 2 ปี ถ้าใช้ราคาใน BOQ จะไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด จึงขอใช้ราคาตลาดแทน บริษัทจึงเสนอราคาเนื้องานมาใหม่ เป็นเงิน 60,686,208.61 บาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารในอนาคต เป็นเงิน 38,861,513.40 บาท เนื่องจากบริษัทต้องทำงานไปอีก 18 เดือน

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้โครงการต้องล่าช้าเกิดจากการแก้ไขการ Design Review ใหม่ เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนเดิม ซึ่งเป็น เชื้อตาย เป็นการรองรับผลิตวัคซีนเชื้อตายและเชื้อเป็น ให้ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จากมาตรฐาน 2 ให้ได้มาตรฐาน 2+

ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทั้ง 3 ประเด็น จึงเห็นได้ว่าโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก น่าจะเกิดจากการแบ่งจ้างเป็นหลายสัญญาซึ่งส่งผลให้การบริหารสัญญา ไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งมี ผอ.อภ.เป็นผู้บริหาร เป็นเหตุให้ อภ.ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างดังกล่าว

เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. จึงเห็นสมควรส่งผลการสืบสวนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมแจ้งผลการสืบสวนให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ

--มติชน ฉบับวันที่ 19 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--