ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"ทนาย" แนะ "หมอวิทิต" ใช้ สิทธิตามกฎหมาย เหตุถูกปลดพ้นบอร์ด อภ. ไม่เป็นธรรม ขณะที่ "เจ้าตัว" ปลง เลิกคิดเรื่องงานแม้ยังห่วง เชื่อได้คนทำงานแทนเร็วๆ นี้ เพราะขนาดกระบวนการขจัดตนยังเร็วมาก "แพทย์ชนบท" เชื่อการเมืองแทรกแซง ด้าน "ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา" หวั่นกระทบระบบจัดการยาของประเทศ ส่วนหมอประดิษฐหลบฉากไปประชุมที่สวิสเกือบ 10 วัน

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีที่บอร์ด อภ.มีมติปลดออกจากตำแหน่งว่า ผลที่ออกมานั้นตนไม่ทราบแนวคิดของบอร์ด เพราะเป็นการประชุมลับ ซึ่งตนก็พยายามอธิบายหลายครั้งว่าเรื่องวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลนั้นเป็นการตัดสินใจในภาวะน้ำท่วมเป็นหลัก และเตรียมขั้นตอนในการดูแลวัตถุดิบเอาไว้แล้ว โรงงานก็เสร็จ เครื่องจักรก็มี วัตถุดิบก็ยังไม่หมดอายุ ถึงแม้ว่าเปิดถังออกมาจะมีการปนเปื้อนบ้าง ก็เป็นขั้นตอนของการตรวจสอบคุณภาพที่ต้องรีเจ็กต์ออกไป แล้วเปลี่ยนอันใหม่มา ถือว่าเป็นกระบวนการปกติที่ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่เป็นประเด็นได้เลยในความรู้สึกของตน แต่ก็มีการเอามาเป็นประเด็น เอามาพูดจนเป็นเรื่องเป็นราว และนำมาสู่ความชอบธรรมในการที่จะปลดออก ก็ถือว่ามีธงที่จะปลดอยู่แล้ว ไม่เป็นไร ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนจะเป็นเกมการเมืองหรือไม่นั้น ตนก็ยังไม่ชัดเจน เลยไม่ขอพูด แต่สังคมคงมองแล้วเห็นว่ามันใช่หรือเปล่า

นพ.วิทิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ล่า สุดวันนี้ยังไม่ได้ปรึกษากับทีมทนายความ เนื่องจากเห็นว่าเป็นวันหยุด แต่จะปรึกษากันจริงๆ น่าจะเป็นวันจันทร์ อีกอย่างคือเรื่องนี้จะถือว่าตนพ้นจากตำแหน่ง ผอ.อภ.อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องเข้า ครม. ซึ่งทราบว่าจะนำเข้าในวันอังคารนี้

"ส่วนผู้ที่จะเข้ามาทำงานหน้าที่นี้ เชื่อว่าเขาคงหาคนมาทำงานแทนผมที่ดี มองในแง่ดีไว้ก่อน ไม่ได้คิดอะไร แต่ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นใคร แต่คงเร็ว เพราะจัดการเรื่องของผมเขาจัดการได้เร็วมาก เรื่องหาคนมาแทนยิ่งเร็วมาก ยิ่งไม่ยาก เมื่อเขาเป็นนายจ้างแล้วเขาอยากได้อย่างนี้ เราเป็นลูกจ้างก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้าง จบ" นพ.วิทิต กล่าว และว่า การบริหารงานต่อจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของรักษาการ ผอ. ตนพ้นภาระแล้ว แม้จะมีความเป็นห่วง แต่ก็ไม่มีเหตุที่จะไปเสนออะไรอีก จะไปคิดแทนเขาไม่ได้อีก เมื่อเลิกจ้างแล้วก็ต้องหยุดคิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าไม่ผิด เพราะฉะนั้นการลงโทษทางวินัยที่ได้รับจะถือว่าไม่เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นจะดำเนินการอะไรต่อไปหรือไม่ นพ.วิทิต กล่าวว่า วินัยที่ตนได้รับวันนี้ถือว่าหนักสุดแล้ว และจบแล้ว ตนไม่ใช่พนักงาน ไม่ใช่ข้าราชการ เป็นแค่สัญญาจ้างวินัยสูงสุดคือให้ออก ถ้าเห็นว่าตนทำเสียหายจะฟ้องอะไรก็ฟ้องมา แล้วถ้าเป็นเรื่องอาญาก็ไปฟ้องศาล

ดร.สมศักดิ์ โตรักษา ทนายความของ นพ.วิทิต กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเพียงการคุยกันทางวาจาเท่านั้น ยังไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ในการหารือกันสัปดาห์หน้าจะต้องมาดูคำสั่งว่ามีเหตุผลอะไรในการปลด เพราะเท่าที่เหตุผลหลักๆ นพ.วิทิตก็มีหลักฐาน มีเหตุผลชี้แจงได้หมด อย่างที่ระบุเรื่องความล่าช้า ถ้าความล่าช้านั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและมีเหตุผล คงไม่ถึงขั้นที่ว่ามีเจตนาทำให้รัฐเสียหาย อีกทั้งตอนนี้ นพ.วิทิตเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาการอ้างเหตุผลนี้ ส่วนตัวแล้วเห็นว่าไม่น่าจะชอบธรรม ต่อไปการปลดผู้บริหารออกจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ทำได้โดยง่าย จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่สมควรทำ

"ตอนนี้หมอวิทิตยังไม่รู้ว่าบอร์ดสั่งปลดด้วยเหตุผลอะไร ดังนั้นจะฟ้องหรือไม่ เป็นสิทธิของ นพ.วิทิต แต่ผมเห็นว่ามีหลายช่องทางที่สามารถทำได้ เพราะดูแล้วคิดว่าไม่น่าจะได้รับความเป็นธรรม เช่น อาจฟ้องศาลปกครอง  หรือฟ้องคดีอาญาว่าการดำเนินการชอบหรือไม่ชอบ เข้าข่ายมาตรา 157 หรือไม่ ต้องไปดูรายละเอียดการแต่งตั้ง ผอ.อภ.ว่ามีช่องทางให้ดำเนินการได้อย่างไรบ้าง" ดร.สมศักดิ์กล่าว

นพ.วชิระ บถวิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การปลด นพ.วิทิตออกจากตำแหน่งนั้น เปรียบเสมือนนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ ที่ทางฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง อภ. เนื่องจากตนเห็นว่า นพ.วิทิตได้ชี้แจงถึงเหตุผลต่อกรณีที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตยาพาราฯ และความล่าช้าของการก่อสร้างโรงงานวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกอย่างชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้นอยากให้บอร์ด อภ.ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงพิจารณาทบทวนตัวเองว่าทำถูกต้องหรือไม่ นพ.วิทิตเอาตัวเข้ามารับใช้ประเทศ บอร์ด อภ.ทุกคนต่างรู้จักดี เพราะฉะนั้นอย่าทำเพียงเพราะหวงเก้าอี้หรือรับใช้การเมืองเท่านั้น

นพ.วชิระกล่าวต่อไปว่า หลังจากทาง ชมรมแพทย์ชนทบได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สอบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีการสั่งซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อแจกให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศที่อาจส่อทุจริตนั้น ทา งดีเอสไอเตรียมให้แพทย์ชนบทเข้าชี้แจงและให้ข้อมูลต่อกรณีที่เกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า หลังบอร์ด อภ.มีมติยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต โดยอ้างหลักฐานตามที่ปรากฏต่อสาธารณะนั้น ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะเอามายกเลิกสัญญาจ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อจากนี้คือ อภ.อาจจะสั่นคลอน และอาจกระทบต่อระบบจัดยาของประเทศ โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างเชื่อมีคำสั่งของฝ่ายการเมืองให้เข้ามาล้วงลูกการทำงานใน อภ. ซึ่งเท่ากับว่า อภ.กำลังถูกท้าทาย ไม่ใช่แค่เพียงการสรรหายา แต่ยังรวมถึงการเจรจาเขตการ ค้าเสรี การทำเมดิคัลฮับ และการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องจับตามอง

ทางด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้ชงเรื่องให้มีการสอบสวนเอาผิด นพ.วิทิต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดวันที่ 18 พ.ค. ได้นำคณะผู้แทนไทยไปประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 66 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 20-28 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมแก้ไขและพัฒนาสุขภาพประชากรโลก ส่วนผู้ร่วม คณะกับ นพ.ประดิษฐ ประกอบด้วย นพ.ชาญ วิทย์ ทระเทพ  รองปลัด สธ. อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2556