ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ข้อมูลจากเวที "กลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ" ในงานประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2556 "จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม" จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ฉายภาพปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยให้เห็นว่า ยังมีความแตกต่างหลากหลายของกองทุนสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม ประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการ กทม. และหน่วยงานที่มีระบบประกันสุขภาพเป็นของตัวเอง ส่งผลให้ผู้รับบริการในแต่ละกองทุนได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน และนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ...

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปรียบเทียบให้เห็นว่า ในต่างประเทศแม้จะมีกองทุนสุขภาพหลายกองทุนเหมือนประเทศไทย แต่ก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลเพียงหน่วยงานเดียว จึงทำให้การบริหารจัดการมีมาตรฐานเดียว แตกต่างกับประเทศไทยที่มีหน่วยงานทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและมีวิธีการบริหารที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งวิธีการจ่ายเงิน การเข้าถึงคุณภาพบริการ เป็นต้น

นักวิจัยจาก TDRI ยังได้สรุปประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพ พบปัญหาใน 3 มิติที่มีความลักลั่นกันอย่างชัดเจน ได้แก่ 1.สิทธิประโยชน์ เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ ให้การคุ้มครองบิดา มารดา ภรรยา และบุตร ขณะที่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมให้เฉพาะผู้ประกันตน นอกจากนี้แม้เกิดการเจ็บป่วยโรคเดียวกันหากใช้ระบบประกันสุขภาพที่ต่างกันการคุ้มครองก็ยังแตกต่างกัน 2.คุณภาพในการรักษา เช่น สิทธิการคลอดบุตร ระบบสวัสดิการข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายได้ตามจริง ขณะที่ระบบประกันสังคมเหมาจ่ายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเบิกตาม DRG ไม่เกิน 2 ครั้ง 3.ค่าใช้จ่าย คือ แต่ละกองทุนมีภาระค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน เช่น ประกันสังคม ภาระค่าใช้จ่ายมี 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกันตน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล"

ดร.เดือนเด่น ชี้ว่าจากบทเรียนในต่างประเทศแม้จะมีระบบประกันสุขภาพหลายระบบ แต่ก็มีการจ่ายเพียงระบบเดียว ทำให้มีสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันหรือเกือบเท่าเทียมกัน ดังนั้น ในประเทศไทยควรมีระบบสุขภาพเดียวดูแลครอบคลุมประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย โดยอาจไม่ต้องรวมกองทุน เพื่อให้ระบบการเบิกจ่าย การคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์เป็นแบบเดียวกัน ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมได้โดยให้ผู้ประกันตนหรือนายจ้างที่ไม่ใช่รัฐเป็นผู้จ่าย โดยหลักการสิทธิพิเศษเพิ่มเติมต้องไม่ไปแย่งชิงทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐ แต่เน้นสิทธิประโยชน์ทางสังคม เช่น การใช้บริการใน รพ.เอกชน

"ถ้าต้องเลือกให้มีเพียงระบบเดียว ระบบที่เหมาะ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากคนไทยเป็นสมาชิกของระบบนี้อยู่แล้วถึง 47 ล้านคน เป็นการง่ายที่จะขยายให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดในประเทศ ขณะที่ระบบอื่นๆ เช่น ประกันสังคมดูแลเฉพาะผู้ที่มีงานทำเท่านั้น"

อย่างไรก็ตาม ดร.เดือนเด่น เสนอว่า การยกเลิกสิทธิ์ของข้าราชการเลยนั้นอาจไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม หากจะยกเลิกต้องหาวิธียกเลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การไม่ขยายระบบนี้ให้กว้างออกไปโดยจำกัดวงเท่าที่มีอยู่ จัดให้ข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการชดเชยการเสียสิทธิ์ นอกจากนั้นเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสุขภาพเพื่อมีแหล่งเงินด้านสุขภาพที่แน่นอน และเสนอระบบการเบิกจ่ายที่ใช้ DRG และเหมาจ่ายรายหัว โดยมีศูนย์ข้อมูลและ Case mix Center ทั้งนี้ต้องมีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการรวมการบริหารจัดการทั้ง 3 กองทุนไว้ด้วยกัน จะมีผลดีทั้งด้านบริหารจัดการ การให้บริการ และการตรวจสอบได้ โดยสร้าง clinical audit ที่ดีมีคุณภาพ

น.พ.วิเชียร เทียนจารุวัฒนา สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในมุมมองของแพทย์ผู้ให้บริการต้องการที่จะให้การรักษาที่เท่าเทียมกัน สาเหตุที่ต้องถามสิทธิ์ของผู้ป่วยเนื่องจากอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป นอกจากนี้สิทธิ์เพิ่มเติมของแต่ละกองทุนก็มีความแตกต่างกันชัดเจน จากการที่ผู้วิจัยได้เสนอให้มีการบูรณาการระบบสุขภาพให้เป็นระบบเดียวนั้น เป็นไปได้ยากเนื่องจากแต่ละกองทุนมีที่มาที่แตกต่างกันจึงต้องได้รับความชัดเจนและการสนับสนุนจากรัฐ

น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ รองอธิบดีกรมบัญชีกลางแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะมีการรวม 3 กองทุนไว้ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานเดียว เป็นแนวคิดที่ดีเพราะจะได้ข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศ เช่น ข้อมูลการรักษา ข้อมูลการใช้ยา สามารถนำมาใช้ในการกำหนดสิทธิ์พื้นฐาน และถ้าสามารถควบคุมเงินได้จะทำให้ช่องว่างของความเท่าเทียมลดลง แต่สำหรับแนวคิดที่จะยกเลิกระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการโดยมีการทดแทนด้วยวิธีการต่างๆ นั้น มองว่าเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น แต่อาจทำได้โดยการลดรายจ่ายในบางส่วนให้เหมาะสมกับการเบิก

น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มองว่า ในประเทศไทยปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ไม่มีความต่างกันมาก แต่การเข้าถึงบริการยังคงเหลื่อมล้ำกันอยู่ เช่น ข้าราชการสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐที่ไหนก็ได้ แต่กองทุนอื่นต้องไปใช้ในหน่วยบริการที่ได้ลงทะเบียนไว้เท่านั้น จึงต้องมีกลไกในการอภิบาลระบบ โดยต้องเป็นกลไกที่กำหนดให้ผู้ให้บริการ และผู้ซื้อบริการแยกออกจากกัน และสร้าง National clearing house ให้เป็นระบบบริการของประชาชนรวมเป็นที่เดียว ให้สามารถบริหารจัดการและพัฒนาระบบสุขภาพภายใต้ทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน

นางสุพัชรี มีครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เห็นด้วยถ้ามีการกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่ากันหมดทั้ง 3 กองทุน และหากกองทุนใดต้องการพิจารณาให้เพิ่มเติมจะมีการเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นควร โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เช่น เรื่องข้อมูล ที่จะทำให้ระบบไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้ส่วนที่ควรให้ความสำคัญคือมีการจัดตั้งหน่วยงานกำหนดนโยบายกำกับทิศทางระบบสุขภาพ โดยแยกจากบทบาทการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข และควรมีหน่วยงานกลางกำหนดมาตรฐานการรักษาให้เป็นแบบเดียวกันในทุกสิทธิ์

ทางด้าน น.พ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้แทนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)กล่าวสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอว่า พบปัญหาอุปสรรคและช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพมาจาก 1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพที่ขาดกลไกอภิบาลระบบในภาพรวม 2.ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่จากปัญหาการกระจายทรัพยากรและความพร้อมของระบบบริการในแต่ละพื้นที่ และ 3.ขาดประสิทธิภาพในการบริการและการใช้ทรัพยากร รวมถึงการบริหารระบบประกันสุขภาพ โดย สวรส.ได้สรุปประเด็นและพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย "สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านระบบสุขภาพ" มีข้อเสนอที่สำคัญ คือ  1.มีกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพระดับชาติที่เป็นเอกภาพ และมีธรรมาภิบาล ระบบประกันสุขภาพมีชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็น และมีการออกแบบระบบให้มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น พัฒนากลไกการเงินการคลังด้านสุขภาพ รวมถึงการสร้างกลไกการจัดการเพื่อรองรับระบบการพัฒนา ซึ่งขณะนี้ยังขาด National clearing house ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง 3 กองทุน

2.การกระจายอำนาจบริหารไปสู่ระดับเขต โดยแบ่งพื้นที่บริหารเป็น 12 เขตบริการ ยกเว้นกรุงเทพฯ จะทำให้การบริการด้านสุขภาพมุ่งเน้นไปสู่ประชาชนได้มากที่สุด

3.พัฒนาระบบประกันสุขภาพและระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน ประเด็นการพัฒนาต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการและการให้บริการ ข้อจำกัดทางการแพทย์ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น Medical hub การเคลื่อนไหวของกำลังคนในยุค AEC เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 19 พฤษภาคม 2556