ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประสานเสียงการเมืองไม่ได้แทรกสั่งปลด "หมอวิทิต" รมว.สธ.ยันบอร์ด อภ.มีวิจารณญาณคิดเอง เพราะรู้ตัวว่าต้องรับผิดชอบถ้าโดนฟ้อง ด้าน "หมอวิชัย" จวกแหลก เผยปมโดนปลดมาจากหมอวิทิตไม่ทำตามคำสั่งโยกงบ 75 ล้านจาก สปสช.ไปให้ สธ. ซ้ำสั่งคืนวัตถุดิบพาราฯ 148 ตัน เพื่อให้เกิดการละเมิดสัญญา ชี้มีการวางแผนกำจัดเลื่อนประชุมบอร์ดเร็วขึ้นเป็น 17 พ.ค. ก่อนหมอประดิษฐเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งที่กำหนดเดิมนัดประชุม 23 พ.ค.

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์ การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่ามีบันได 3 ขั้นนำไปสู่การปฏิรูป อภ. ว่า ยืนยันว่าไม่มีความคิดที่จะแปรรูป อภ. 100 เปอร์เซ็นต์ มีแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น เช่น โรงงานน้ำเกลือจะทำอย่างไรให้เป็นของรัฐบาลมากขึ้น เพื่อควบคุมราคาน้ำเกลือให้ถูกลง เช่นเดียวกับกรณีที่บอร์ด อภ.มีมติเลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล จากการเป็น ผอ.อภ.นั้น ยืนยันว่าไม่มีการเมืองเข้าไปแทรกแซง การเมืองคงไปสั่งไม่ได้ ต้องถามว่าการเมืองเข้าไปแทรกแซงอย่างไร ต้องพูดให้ชัดเจน ถ้ามีการเมืองไปแทรกแซงจริงก็คงจะมีกรณีการเมืองอยากให้ปลด แต่บอร์ด อภ.ไม่เห็นด้วย ตนเชื่อว่าบอร์ด อภ.มีวิจารณญาณ ไม่ใช่การเมืองไปสั่งซ้ายสั่งขวาได้ เพราะบอร์ด อภ.อาจถูกฟ้องได้ ตรงนี้ใครจะมาเสี่ยง ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง

"ผมอยากให้ดูและพิสูจน์การกระทำของผม ว่าที่มีการกล่าวหาผมเป็น 100 ข้อนั้น คำถามผมมีแค่ว่าถ้าผมไม่ได้ทำแล้วจะมีการขอโทษหรือไม่ ผมยังไม่เคยเห็นสปิริตคำนี้ออกมาเลย" นพ.ประดิษฐกล่าว

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการ อภ. กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งธงเปลี่ยนตัว ผอ.อภ.ตั้งแต่แรกแล้ว โดยเชื่อว่ามีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารภายใน ว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานบอร์ดซึ่งได้มีการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ นพ.วิทิตพ้นจากตำแหน่ง ขอยืนยันว่าคณะกรรมการทุกคนได้ทำการพิจารณาตัดสินตามหลักฐานอย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นความบกพร่องในการบริหารงาน ซึ่งได้มีระบุไว้ตามสัญญาจ้างงาน ไม่ได้นำเรื่องอื่นๆ มาเป็นประเด็นในการพิจารณา อีกทั้งคณะกรรมการบอร์ด อภ.ก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่าย ไม่ได้เป็นเฉพาะคนภายใน สธ.เท่านั้น ดังนั้นมติที่ประชุมบอร์ด อภ.จึงเป็นที่ชัดเจนว่าได้พิจารณารอบคอบแล้ว

นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากว่า นพ.วิทิตเห็นว่ามติบอร์ด อภ.ไม่ชอบธรรม ก็สามารถดำเนินการฟ้องศาลปกครองได้ ถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งสำหรับตนแล้วก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีการฟ้องศาลขึ้นมาจริงๆ ทางบอร์ด อภ.ก็จะชี้แจงไปตามรายละเอียดข้างต้น ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น ตนได้เคยชี้แจงไปแล้วหลายครั้งแล้ว ขณะเดียวกันในส่วนของรายละเอียดเชิงลึก ตนก็คิดว่าไม่ควรที่จะนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะมากนัก เพราะในขั้นตอนการพิจารณา ทางคณะกรรมการทุกท่านได้วิเคราะห์กันในประเด็นที่กว้างและเชิงลึก สุดท้ายจึงสรุปเป็นมติที่ชัดเจนว่าเป็นความบกพร่องในการบริหารงานเพียงเท่านั้น

"ผมมองว่าบอร์ด อภ.ได้ให้ข้อมูลและชี้แจงไปชัดเจนแล้ว ฉะนั้นส่วนตัวจึงคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องออกมาชี้แจงอะไรเพิ่มเติม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ถูกมองว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้เคยชี้แจงไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งหากจะต้องขุดคุ้ยหลักฐานต่างๆ ขึ้นมาเผยแพร่ในสาธารณชน ก็จะส่งผลกระทบต่อตัวอดีต ผอ.อภ.ได้ เพราะอย่าลืมว่าจากนี้ไป นพ.วิทิตก็ยังคงต้องทำงานต่อไป" นพ.พิพัฒน์กล่าว

สำหรับการตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของ ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รอง ผอ.อภ. ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นรักษาการ ผอ.อภ. เนื่องจากเคยพัวพันทุจริตยา 1,400 ล้านบาทนั้น นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 14 ปี ซึ่งตัวท่านรอง ผอ.อภ.ก็ได้ถูกตักเตือนและลงโทษสถานเบา ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะทาง บอร์ด อภ.ก็ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมอย่างรอบคอบแล้ว ขณะเดียวกันตัวท่านเองก็จะเกษียณในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้แล้ว

นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ. กล่าวถึงการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล จากตำแหน่ง ผอ.นั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เป็นการยอมให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจริงๆ ถือว่าเป็นความผิดของบอร์ดด้วยซ้ำ จากเดิมทราบว่าจะมีการประชุมบอร์ด อภ.ในวันที่ 23 พ.ค. แต่จู่ๆ ก็เลื่อนมาประชุมเร็วขึ้นเป็นวันที่ 17 พ.ค. เพราะว่า นพ.ประดิษฐ รมว.สธ. ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ฉะนั้นเรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นการรีบร้อนประชุมเพื่อสนองการเมือง เพราะตามกฎหมายของ อภ.ระบุว่าการจะปลด ผอ.ได้ รมว.สธ.ต้องเป็นผู้เสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบ เพราะฉะนั้นถ้าประชุมช้ากว่าวันที่ 17 พ.ค. ก็ต้องรอจนกว่า รมว.สธ.จะกลับมาจากต่างประเทศ

"รัฐบาลต้องการเปลี่ยนผู้บริหารมาเป็นคนที่ตนเองสามารถสั่งการได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายๆ องค์กร" นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่บอร์ดจะมีมติให้ปลด นพ.วิทิตออกจากตำแหน่งประมาณ 2 สัปดาห์ นพ.วิทิตได้มาปรึกษากับตน 2 เรื่องซึ่งเป็นเหตุให้ถูกปลดคือ 1.เรื่องงบประมาณสนับสนุนกิจการภาครัฐ จำนวน 75 ล้านบาท ที่เดิมทาง อภ.ต้องจ่ายให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หลังจากทำโครงการขอเข้ามา แต่ปรากฏว่ามีคำสั่งให้จ่ายตรงไปยัง สธ. แต่ นพ.วิทิตยังไม่จ่าย จึงถูกประธานบอร์ดขู่ว่าหากไม่จ่ายก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ ดังนั้นเรื่องนี้ตนจึงได้แนะนำให้ นพ.วิทิตทำหนังสือไปยัง สธ. ว่าหากต้องการเงินก็ให้ทำโครงการขอเข้ามาตามระเบียบ และจากข้อมูลทราบว่าได้มีการสั่งการให้ นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัด สธ. ให้เป็นคนทำเรื่อง แต่ นพ.โสภณไม่กล้าเขียนโครงการ เพราะรู้ว่าจะมีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้อย่างอื่น

ส่วนประเด็นที่ 2 คือเรื่องวัตถุดิบผลิตยาพาราฯ จำนวน 148 ตัน ซึ่ง รมว.สธ.บังคับให้คืนบริษัทผู้จำหน่ายไปทั้งหมด ซึ่งจริงๆ ทางบริษัทยินดีรับเปลี่ยนคืนถ้าวัตถุดิบมีปัญหา ซึ่งเป็นสัญญาปกติ แต่ในกรณีนี้มีการตรวจสอบวัตถุดิบในช่วงการจัดซื้อแล้ว พบว่าคุณภาพผ่านมาตรฐาน แต่พอเก็บไว้แล้วมาตรวจซ้ำกลับพบการปนเปื้อนในภายหลัง ดังนั้น หากส่งคืนทั้งหมด นพ.วิทิตจะมีความผิดฐานผิดสัญญา และต้องรับผิดชอบเรื่องค่าปรับหากมีการฟ้องร้อง และกล่าวหาว่า นพ.วิทิตทำให้ภาพลักษณ์ของ อภ.เสียหาย เป็นความเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะเป็นการสั่งการด้วยวาจา และประธานบอร์ดยังบอกว่าหากไม่ทำการส่งคืนทั้งหมดก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ ทั้ง 2 ประเด็นคือสาเหตุให้ต้องรีบปลด

"ส่วนการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนก็มีคำอธิบายได้ทั้งหมด และถ้าจะเอาผิดด้วยเรื่องนี้ก็ควรไปตรวจสอบการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของ สธ.ทั้งหมดว่าล่าช้าหรือไม่ มีอาคารสร้างล่าช้าทั่วประเทศ ถ้าไม่เอาผิดแล้วมาเอาผิด นพ.วิทิตคนเดียวก็แล้วแต่จะทำ" อดีตประธานบอร์ด อภ.กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากถูกปลดตนยังไม่มีโอกาสได้คุยกับ นพ.วิทิตเลย คิดว่าท่านคงยังไม่พร้อมจะเจอใคร ซึ่งกรณีอย่างนี้หากเป็นตนเองจะทำการฟ้องร้อง จะไม่ยอมให้ใครมาย่ำยีศักดิ์ศรี"

นพ.วิชัยกล่าวต่ออีกว่า ในกรณีที่ตนถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้มูลว่ามีความผิดในกรณีสำรองวัตถุดิบยาพาราฯ นั้น ที่ผ่านมาเคยขอดูสำนวนเพื่อมาพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ทางดีเอสไอก็ไม่เคยให้เลย แต่ก็ไม่แปลกใจ แต่ดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม ก็ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคนด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2556