ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประธานบอร์ด อภ.ยันเลิกจ้าง"นพ.วิทิต" ไม่เกี่ยวจ้างแปรรูป อภ.ย้ำเพราะประสิทธิภาพงาน ด้าน "หมอวิชัย" จวกยับการเมืองแทรก ไม่ทำตามคำสั่งโยกงบ 75 ล้าน จาก สปสช.ไป สธ.

จากกรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล เป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) โดยยุติการปฏิบัติหน้าทันทีและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด เนื่องจากการบกพร่องต่อหน้าที่ กรณีการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลและการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกล่าช้า ส่งผลให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมออกมาระบุว่าการดำเนินดังกล่าวเป็นไปตามแผนบันได 3 ขั้น ที่จะนำไปสู่การแปรรูป อภ. ซึ่งเป็นขั้นตอนแบบสูตรสำเร็จของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.กล่าวว่า การปลด นพ.วิทิต เป็นการพิจารณาจากประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลัก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นการแปรรูป อย่าได้นำไปโยงกัน บอร์ดทุกคนไม่เคยมีประเด็นการแปรรูป อภ.อีกทั้งเหตุผลของการปลดก็ไม่เคยมีการระบุว่า นพ.วิทิต ฮั้วประมูลในเรื่องใดเหมือนผลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการพิจารณาใช้เหตุหลักเรื่องของการทำงาน การแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องของการสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล การก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่-ไข้หวัดนก และการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่ล่าช้ามาก ซึ่งก่อนหน้านั้นบอร์ดเคยให้คำแนะนำ และพบว่า การแก้ปัญหาก็ยังไม่สำเร็จ กลับยืดยื้อ ที่สำคัญ การมีมติเลิกสัญญาจ้างเป็นมติเอกฉันท์ 13 คน จากบอร์ดทั้งหมด 14 คน โดย 1 คนไม่ได้เข้าร่วมประชุม

"ผมว่าเป็นเรื่องดีมากที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมจะจับตา เฝ้าระวัง และต่อต้าน หากจะมีการดำเนินการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม เพราะผมก็ไม่เห็นด้วยในการแปรรูป และถ้ามีการแปรรูปจริงผมก็จะลาออกเป็นคนแรก แต่ที่ผ่านมาบอร์ดไม่ได้มีการพูดถึงหรือมีประเด็นเรื่องแปรรูปใดๆเลย " นพ.พิพัฒน์ กล่าว

ประธานบอร์ด อภ.กล่าวอีกว่า เรื่องการแต่งตั้ง ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รอง ผอ.อภ. มารับตำแหน่งรักษาการตำแหน่ง ผอ.ในช่วงที่อยู่ระหว่างการสรรหา ผอ.คนใหม่นั้น เพราะมีความเหมาะสมท่สุด การที่มีกลุ่มเอ็นจีโอให้ข้อสังเกตว่า เคยได้รับโทษสมัยทุจริตยาปี 2540 ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่นานมากว่า 15 ปี และโทษที่ได้รับเป็นโทษแค่ตักเตือนเท่านั้น ไม่เคยมีความผิดร้ายแรงมาก่อน จำเป็นต้องให้โอกาสและเป็นผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินโครงการอื่นๆ ที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล โรงงานวัคซีน ไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก โรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ อีกทั้งเหลือระยะเวลาในการปฏิบัติงานเพียง 4 เดือน ก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว

ด้านนายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วันที่ 20 พฤษภาคมนี้ สหภาพจะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวต่อไป เนื่องจากขณะนี้ปัญหาเริ่มลุกลาม ไม่ใช่ว่าปลดผู้อำนวยการ อภ.แล้วจะจบ แต่เชื่อว่าจะมีเรื่องอื่นๆด้วย

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชทบท กล่าวว่า วันที่ 28 พฤษภาคม นี้ในการจัดเสวนาวิพากษ์ของสหภาพ แพทย์ชนบทจะเข้าร่วมและพูดถึงปัญหาภาพรวมของระบบสาธารณสุขด้วย โดยเฉพาะปัญหาตั้งแต่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาดำรงตำแหน่งเนื่องจากประเด็นการปลด นพ.วิทิต รวมไปถึงการสร้างกระแสโจมตีทำให้ อภ.เสื่อมเสียไม่ใช่แค่เรื่องขององค์กรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงความเสียหายในระบบสาธารณสุขไทย เนื่องจาก อภ. เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งของกระบวนการที่เอื้อภาคเอกชน เพราะการโจมตี อภ.จะส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยาของ อภ. ซึ่งยาส่วนใหญ่เป็นยาสามัญ ที่ผลิตขึ้นตามยาต้นแบบที่หมดสิทธิบัตร แต่มีคุณภาพเทียบเท่า เมื่อส่งผลต่อการใช้ยาสามัญก็จะทำให้ยาข้ามชาติรุกตลาดเข้ามาได้

"เรื่องนี้ไม่ได้ดีแต่พูด แต่มีข่าววงในว่า ตั้งแต่ นพ.วิทิต เข้ามาดำรงตำแหน่งสามารถตรึงราคายาข้ามชาติไม่ให้ขึ้นราคามากจนเกินไป เพราะ อภ.สามารถผลิตและนำเข้ายาสามัญได้ในปริมาณมาก ทำให้บริษัทยาข้ามชาติต้องขาดดุลไปกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี จึงมีข่าวว่า พวกบริษัทยาข้ามชาติถึงขนาดประชุมกันว่าจะทำอย่างไรให้ นพ.วิทิต หลุดจากตำแหน่งบางกระแสข่าวมีพูดถึงขนาดยอมลงขันทีเดียวในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ ชมรม และสหภาพ จะร่วมกันไปเรียกร้องนายกรัฐมนตรี บริเวณรอบๆ บ้านพัก เพื่อให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อภาพรวมอย่างไร "นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดอภ. กล่าวว่า การที่ อภ. ยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต นั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เป็นการยอมให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจริงๆ ถือว่าเป็นความผิดของบอร์ดด้วยซ้ำ เพราะบอร์ดต้องมีหน้าที่ในการบริหารงานให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม ที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องไม่ปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจากเดิมทราบว่าจะมีการประชุมในวันที่ 23 พฤษภาคม แต่อยู่ๆ ก็เลื่อนมาประชุมเร็วขึ้นเป็นวันที่ 17 พฤษภาคม เพราะว่า นพ.ประดิษฐ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นการรีบร้อนประชุมเพื่อสนองการเมือง เพราะตามกฏหมายของ อภ.ระบุว่า การจะปลด ผอ.ได้รมว.สาธารณสุขต้องเป็นผู้เสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบ เพราะฉะนั้นถ้าประชุมช้ากว่าวันที่ 17 ก็ต้องรอจนกว่า รมว.สาธารณสุขจะกลับมาจากต่างประเทศ

"รัฐบาลต้องการเปลี่ยนผู้บริหารมาเป็นคนที่ตนเองสามารถสั่งการได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายๆ องค์กร ยกเว้นแต่ว่าองค์กรนั้นจะเป็นจิ้งจก เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ยอมเปลี่ยนสี เหมือนไม่ใช่คนซึ่งดูก็รู้ว่าเป็นองค์กรไหน อย่างที่ อภ.ก็มีการแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาอยู่ในบอร์ดบริหารแล้วไปปลดคนออกโดยไม่คำนึงถึงว่าคนคนนั้นเป็นคนดี เป็นคนบริหารงานเก่งอย่างไร "นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่บอร์ดจะมีมติให้ปลด นพ.วิทิต ออกจากตำแหน่งประมาณ 2 สัปดาห์ นพ.วิทิตได้มาปรึกษากับ ตน2 เรื่อง ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกปลดคือ 1.เรื่องงบประมาณสนับสนุนกิจการภาครัฐจำนวน 75 ล้านบาท ที่เดิมทาง อภ.ต้องจ่ายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หลังทำโครงการขอเข้ามา แต่ปรากฏว่ามีคำสั่งให้จ่ายตรงไปยังกระทรวงสาธารณสุข แต่ นพ.วิทิต ยังไม่จ่าย จึงถูกประธานบอร์ดขู่ว่าหากไม่จ่ายก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงแนะนำให้ นพ.วิทิต ทำหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่า หากต้องการเงินก็ให้ทำโครงการขอเข้ามาตามระเบียบ และจากข้อมูลทราบว่า ได้มีการสั่งการให้ นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนทำเรื่อง แต่นพ.โสภณไม่กล้าเขียนโครงการเพราะรู้ว่าจะมีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้อย่างอื่น

ส่วนประเด็นที่ 2 คือเรื่องวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล จำนวน 148 ตัน ซึ่ง รมว. สาธารณสุขบังคับให้คืนบริษัท ผู้จำหน่ายไป ทั้งหมด ซึ่งจริงๆ ทางบริษัทยินดีรับเปลี่ยนคืนถ้าวัตถุดิบมีปัญหาซึ่งเป็นสัญญาปกติ แต่ในกรณีนี้มีการตรวจสอบวัตถุดิบในช่วงการจัดซื้อแล้วพบว่าคุณภาพผ่านมาตรฐาน แต่พอเก็บไว้แล้วมาตรวจซ้ำกลับพบการปนเปื้อนในภายหลังดังนั้นหากส่งคืนทั้งหมด นพ.วิทิตจะมีความผิดฐานผิดสัญญา และต้องรับผิดชอบเรื่องค่าปรับหากมีการฟ้องร้อง และกล่าวหาว่า นพ.วิทิต ทำให้ภาพลักษณ์ของ อภ.เสียหาย เป็นความเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะเป็นการสั่งการด้วยวาจา และประธานบอร์ดยังบอกว่า หากไม่ทำการส่งคืนทั้งหมดก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ ทั้ง 2 ประเด็นคือสาเหตุให้ต้องรีบสั่งปลด

"ส่วนการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ก็มีคำอธิบายได้ทั้งหมด และถ้าจะเอาผิดด้วยเรื่องนี้ก็ควรไปตรวจสอบการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดว่าล่าช้าหรือไม่ซึ่งหลังจาก นพ.วิทิต ถูกปลดก็ยังไม่มีโอกาสได้คุยกันเลย คิดว่าท่านคงยังไม่พร้อมจะเจอใคร ซึ่งกรณีอย่างนี้หากเป็นผมจะทำการฟ้องร้อง จะไม่ยอมให้ใครมาย่ำยีศักดิ์ศรี"นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่ออีกว่า กรณีที่ถูกดีเอสไอชี้มูลว่ามีความผิดในกรณีสำรองวัตถุดิบยาพาราเซตามอลว่า รู้เห็นเรื่องการสั่งซื้อมาตลอดนั้น ที่ผ่านมาเคยขอดูสำนวนเพื่อมาพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ทางดีเอสไอก็ไม่เคยให้เลย แต่ก็ไม่แปลกใจไม่เป็นไร หากหมาจะเยี่ยวรดเท้าบ้างคงไม่เป็นอะไร แต่ดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงยุติธรรมก็ต้องให้ความยุติธรรมต่อทุกคนด้วย

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--