ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อาเซียนเสียงแตก ประเทศผู้ส่ง-ผู้รับเห็นต่าง สร้างมาตรฐานสวัสดิการแรงงานต่างด้าว

นายกมล สวัสดิ์ชูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ (ACMW) ครั้งที่ 6 ณ ประเทศบรูไน ได้มีการนำร่างตราสารปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติชาวอาเซียนที่เคลื่อนย้ายไปทำงานระหว่างกันขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้มาตรฐานการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติของอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ จากการร่วมกันพิจารณาเนื้อหาร่างทั้งสิ้น 8 หมวด รวมกว่า 80 มาตราปรากฏว่าที่ประชุมยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะยึดแนวทางปฏิบัติใด เนื่องจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ กลุ่มประเทศผู้ส่งแรงงาน เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา ลาวกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มประเทศผู้รับแรงงานเช่น สิงคโปร์ บรูไน และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่เป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับ เช่น ไทย

สำหรับกลุ่มประเทศผู้ส่งแรงงาน เรียกร้องให้ตราสารฉบับดังกล่าวระบุให้ประเทศผู้รับจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้เท่าเทียมกับแรงงานท้องถิ่น ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดูแลแรงงานข้ามชาติให้เหมือนเป็นคนในชาติของตัวเองด้วย แต่กลุ่มประเทศผู้รับแรงงาน ยังไม่สามารถรับข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เช่น สิงคโปร์ มีการจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้แก่แรงงานประเทศตัวเองสูงมาก จึงยังคงปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการแบบเท่าเทียม

ขณะที่ท่าทีของไทยไม่ได้มีปัญหากับทั้งสองฝ่าย เพราะข้อเรียกร้องของประเทศผู้ส่งแรงงาน เป็นสิ่งที่ไทยปฏิบัติอยู่แล้วแรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีสิทธิได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับคนไทย เมื่อนายจ้างและแรงงานส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แรงงานข้ามชาติก็จะได้รับสิทธิประกันสังคมทุกอย่าง หากภายหลังที่ประชุมตกลงตามข้อเสนอของประเทศผู้ส่งแรงงาน ไทยก็ปฏิบัติได้

อย่างไรก็ตาม แม้อาเซียนจะต้องการให้ตราสารฉบับดังกล่าวเสร็จสิ้นและเริ่มบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ แต่จากแนวโน้มคาดว่ายังต้องใช้เวลาพิจารณากันอย่างละเอียดอีกหลายประเด็น ไม่น่าจะทันปีนี้แต่เชื่อว่าน่าจะเสร็จทันก่อนเปิดประชาคมอาเซียนช่วงปลายปี 2558 ระหว่างนี้แต่ละประเทศยังสามารถใช้กฎหมายภายในดูแลแรงงานข้ามชาติก่อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังต้องตกลงกันว่าจะให้ตราสารฉบับดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเอกสารที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันไปปฏิบัติโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ หรือจะยกระดับให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ทั่วอาเซียน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง