ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การปลดนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.)นำมาสู่เงื่อนงำอันน่าเคลือบแคลง

เริ่มตั้งแต่การตั้ง 2 ประเด็นความผิดปกติ ได้แก่การสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล และความล่าช้าในการสร้างโรงงานผลิตวัคซีน แม้ นพ.วิทิต จะมีคำอธิบายชนิดเป็นเหตุเป็นผล ทว่ากลไกการสอบสวนกลับเพิกเฉยไม่นำพา

หรือกระทั่งความไม่ชอบมาพากลของกรม สอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ชี้มูลความผิด อภ. ทั้งที่ นพ.วิทิต ยังไม่ได้เข้าให้ปากคำ

หนำซ้ำที่ประชุมบอร์ด อภ. เมื่อวันที่17 พ.ค.ที่ผ่านมา ยัง "รับลูก" อย่างถูกเหลี่ยม ด้วยใช้เหตุผลข้างต้นผลักไส นพ.วิทิต พ้นเก้าอี้เป็นความเหมาะเจาะ คล้ายถูกเขียนบท

วันดังกล่าว บอร์ด อภ.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกจ้างนพ.วิทิต โดยให้เหตุผลว่าบกพร่องต่อหน้าที่และไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง

ข้อหาร้ายแรงที่ นพ.วิทิต ได้รับในวันนั้นคือ จงใจทำให้ผู้ว่าจ้างเสียหาย ประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง และฝ่าฝืนข้อบังคับขัดขืนคำสั่งอย่างไรก็ดี ปรากฏความคลุมเครือที่น่าสนใจ

ด้วยที่ประชุมวันดังกล่าวซึ่งมี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.เป็นประธาน กลับไม่มีการรายงานถึงผลการสอบสวนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงให้ นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบโรงงานวัคซีน และ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบวัตถุดิบยาพาราฯ ชี้แจงด้วยวาจาเท่านั้น

นอกจากนี้ ก่อนถึงวันประชุมมีคำสั่งจากบุคคลระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ห้ามอธิบดีในหน่วยงาน สธ. เดินทางไปต่างประเทศจนกว่าการประชุมบอร์ด อภ.จะแล้วเสร็จ ด้วยบอร์ด อภ.มีทั้งสิ้น13 คน ในจำนวนนั้นเป็นอธิบดีในสังกัด สธ.ถึง 5 คน

ระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอภ. บอกว่า เตรียมหารือเพื่อกำหนดทิศทางต้านบอร์ดอภ. หลังวันที่ 31 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ จะมีการจัดเวทีเสวนาเพื่อจับตาและป้องกันการแปรรูป อภ.

"เราจะเดินหน้าให้บอร์ด อภ.ลาออกทั้งคณะ จะนัดกลุ่มแพทย์ชนบทหารือร่วมกันด้วย" ระวัย ระบุ

ด้าน นพ.วิทิต บอกว่า จะหารือกับทีมกฎหมายในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เพื่อฟ้องร้องปกป้องศักดิ์ศรีเกียรติยศของตัวเองและวงศ์ตระกูล

สมศักดิ์ โตรักษา ทนายความส่วนตัว นพ.วิทิตกล่าวว่า ต้องรอเอกสารยกเลิกสัญญาจ้างจาก อภ.ก่อนจึงจะทราบว่าต่อสู้ในแนวทางใดได้บ้าง อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งจากดีเอสไอ และบอร์ด อภ.

"อาจมีกระบวนการถ่วงเวลาทั้งจากดีเอสไอและบอร์ด อภ. ไม่ให้ นพ.วิทิต เข้าถึงเอกสารอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกสัญญาจ้าง ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิในกระบวนการทางกฎหมายได้" ทนายความรายนี้ตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาชนนำโดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปลด นพ.วิทิต ผ่านเว็บไซต์ www.change.org/th

ด้าน นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า บอร์ด อภ.ไม่ได้ ปลด นพ.วิทิต เพื่อสนองการเมืองและการเลื่อนวันประชุมจากวันที่ 23 พ.ค. มาเป็นวันที่ 17 พ.ค. เป็นเพราะบอร์ดหลายรายติดภารกิจ ไม่ได้เลื่อนเพื่อให้ทันกับที่นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ.จะนำเรื่องนี้เสนอเข้าครม.ได้ ยืนยันว่าไม่มีการข่มขู่ใดๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง