ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'หมอประดิษฐ'ควง'นายกฯยิ่งลักษณ์'บินลัดฟ้าศึกษาระบบดูแล-สวัสดิการผู้สูงอายุญี่ปุ่น ตั้งเป้านำมาประยุกต์ใช้ในประเทศ เผยเล็งเพิ่มศักยภาพบริการท่องเที่ยว'ลอง สเตย์'เพิ่มรายได้

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 23-26 พฤษภาคมนี้ จะนำคณะผู้แทน สธ.เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อศึกษาระบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งประสบการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมตัวรับมือ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โครงสร้างผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเจริญพันธุ์ของไทยลดลง เฉลี่ยหญิงไทย 1 คน มีบุตรเพียง 1.5 คน โดยคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 25 หรือมี 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นปัญหาระดับชาติ จึงต้องมีการจัดโครงสร้างด้านงบประมาณและระบบการดูแลรองรับให้เหมาะสม

นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า ในการวางแผนรับมือการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุนั้น สธ.ได้กำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะกลาง โดยต้องทำให้ประชาชนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยให้ได้ 80 ปี และมีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (Quality Adjusted Life expectancy) ยืนยาวให้ได้ถึง 72 ปี มีระบบรองรับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สามารถลดภาระครอบครัวและอยู่กับครอบครัวได้ยาวนาน ส่วนเป้าหมายระยะยาวจะใช้หลายมาตรการ เช่น เพิ่มอัตราเจริญพันธุ์ ให้หญิงไทยมีบุตรเฉลี่ยเพิ่มเป็น 2.1 คน มีระบบการลดหย่อนภาษี ให้สถานที่ทำงานขนาดใหญ่ทุกแห่งต้องมีศูนย์รับเลี้ยงเด็ก บรรเทาภาระพ่อแม่ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้โครงสร้างอายุประชากรเป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยมสมดุลทุกช่วงอายุ ไม่มีปัญหาขาดแคลนวัยแรงงาน

"การไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย เนื่องจากระบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นเป็นระบบฟรี หรือแบบร่วมจ่าย (Free Schedule or Co-Payment) ซึ่งเป็นระบบที่ต้องนำมาศึกษาก่อน" นพ.ประดิษฐกล่าว

นอกจากนี้ นพ.ประดิษฐยังกล่าวถึงเรื่องการให้บริการดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่นแบบพำนักระยะยาว หรือลอง สเตย์ (Long Stay) ในประเทศไทยว่า บริการดังกล่าวภาคเอกชนในประเทศไทยมีความพร้อมมาก หากมีโอกาสนายกรัฐมนตรีของไทยอาจหยิบยกขึ้นมาหารือกับทางการญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่นแบบลอง สเตย์ได้ แต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อให้สื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุจะต้องพูดภาษาญี่ปุ่นให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ สธ.จะหารือกับสภาวิชาชีพต่อไป ส่วนเรื่องอื่นๆ ไทยมีความพร้อมอยู่แล้วและอาจจะมีแก้ไขกฎระเบียบอำนวยความสะดวกในการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 พฤษภาคม 2556