ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตามคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าเรื่องนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม และเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต

เพราะงานนี้ ไม่ใช่แค่การต่อต้านนโยบายค่าตอบแทนที่อิงผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ได้ยกระดับไปถึงความไม่ชอบธรรม การขาด ธรรมาภิบาลในฐานะรัฐมนตรีว่าการ สธ.ที่สร้างความเสียหายให้แก่ อภ.ที่ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในการผลิตยา ที่สำคัญการปลด นพ.วิทิต ยังถูกมองว่า นี่คือการ "แทรกแซง" ระบบที่น่ากังวล เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งปัญหาวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และความล่าช้าของโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก สามารถชี้แจง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรวมตัวกันแสดงพลังด้านต่างๆ ทั้งการเปิดเผยหลักฐานข้อเท็จจริงกรณี ยาพาราเซตามอล และโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และการขับเคลื่อนด้วยรูปแบบพลังมวลชน อันดับแรก คือแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. และเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต เตรียมประท้วงที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เพื่อเรียกร้องให้นายกฯปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ. ขณะที่ชมรมรักษ์ สปสช. ก็ออกมาให้กำลังใจ นพ.วิทิต ด้วยเหตุผลว่า งานนี้เป็นใบสั่งทางการเมืองแน่นอน และพร้อมเข้าร่วมประท้วงในวันดังกล่าวด้วย

ส่วนการแสดงข้อเท็จจริงกรณียาพาราฯ และโรงงานวัคซีนนั้น สหภาพ อภ. ได้จัดทำเป็นสมุด ปกขาว โดยข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นประเด็นที่ นพ.วิทิตได้ชี้แจงมาตลอด

โดยข้อกล่าวหาในเรื่องวัตถุดิบยาพาราฯ ที่พบการปนเปื้อน เช่น

1.เหตุใดจึงจัดซื้อจากบริษัทเดียว และเหตุใดจึงซื้อด้วยวิธีพิเศษ คำตอบคือ เนื่องจากตัวยาทุกชนิดไม่ใช่สินค้าตามท้องตลาด อภ.ได้เสาะแสวงหาแหล่งผลิตเริ่มต้นจาก 6 แหล่ง ทำการตรวจสอบตามขั้นตอน ทั้งการนำตัวยามาทดลองผลิต การตรวจจากเอกสารหลักฐาน และการตรวจโรงงาน จนเหลือแหล่งผลิตที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงแหล่งเดียว โดยราคาก็ย่อมเยา จึงทำการจัดซื้อ โดยดำเนินการตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุทุกประการ

2.แหล่งที่จัดซื้อพบการปนเปื้อนแล้วเหตุใดจึงจัดซื้อเพิ่มอีก 100 ตัน จากเดิมที่ซื้อไว้แล้ว 48 ตัน คำตอบคือ การจัดซื้อครั้งแรก 48 ตัน ในปี 2554 เมื่อตรวจสอบคุณภาพได้มาตรฐานแล้ว ต่อมาจึงมีการจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 100 ตัน ขณะที่โรงงานเภสัชกรรมทหารแจ้งเรื่องพบการปนเปื้อนให้ อภ.ทราบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ อภ.ได้รับอนุมัติจัดซื้อไปแล้ว 1 ปีเศษ และยาได้ส่งถึง อภ.แล้ว 9 เดือนเศษ ที่น่าสังเกตคือ โรงงานเภสัชกรรมทหารได้รับวัตถุดิบที่ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพแล้วว่า "ผ่าน"

3.เหตุใดจึงสำรองวัตถุดิบไว้เป็นจำนวนมากทั้งที่โรงงานยังไม่พร้อม คำตอบคือ การปรับปรุงโรงงานเสร็จล่าช้า เกิดจากเป็นโรงงานเก่า จึงประสบปัญหาการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานช้าตาม แต่ขณะนี้โรงงานดังกล่าวเสร็จแล้ว

ข้อกล่าวหาความล่าช้าโรงงานวัคซีนฯ

1.เรื่องการจ้างออกแบบรายละเอียด 4 บริษัท ที่กล่าวหาว่าอาจผิดระเบียบ "ฮั้วประมูล" คำตอบคือ คณะกรรมการที่รับผิดชอบได้แจ้งไปยังบริษัทออกแบบรวมทั้งสิ้น 10 บริษัท เข้ารับฟังคำชี้แจง ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลการออกแบบ โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการออกแบบว่า จะสามารถออกแบบให้แล้วเสร็จภายใน 75 วันหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วม 9 ราย แจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทัน มีเพียงรายเดียวที่ทำได้ ซึ่งคณะทำงานการจัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) เห็นว่าเป็นความเสี่ยงในการดำเนินงาน จึงหาทางเลือกในการว่าจ้างออกแบบ โดยแบ่งงานออกไปตามเหตุผลทางวิชาการ เพื่อให้บริษัทออกแบบที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสามารถรับงานไปได้ตามความเหมาะสม จึงอนุมัติให้มีการแยกประมูลการออกแบบในแต่ละส่วนกันไป

2.เรื่องมีผู้เสนอราคารายเดียว คำตอบคือ ได้มีการคัดเลือกบริษัทที่มีคุณสมบัติจริงๆ ซึ่งพบเพียงรายเดียว ที่สำคัญช่วงเวลาดังกล่าวมีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ไม่สามารถรอเวลาได้ และงบประมาณที่ได้รับเป็นงบผูกพันปี 2551-2552 จำเป็นต้องหาผู้รับจ้างให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2552 จากสถานการณ์เร่งด่วน จึงได้เสนอ ครม.พิจารณา สุดท้ายได้มีมติผ่อนผันให้สามารถใช้ดุลพินิจรับพิจารณาผู้เสนอราคารายเดียวได้

3.ปัญหาความล่าช้า คำตอบคือ เรื่องความล่าช้าในการก่อสร้างเป็นเรื่องที่เกิดเป็นปกติ ทั้งในภาครัฐ และเอกชน แม้แต่การสร้างบ้านหลังเดียวก็พบปัญหาความล่าช้าได้ ซึ่งมาจากการปรับแบบฐานราก และยกระดับอาคาร การประสบปัญหาน้ำท่วมถึง 2 ครั้ง คือ ปี 2553 และปี 2554 รวมไปถึงการทบทวนแบบอาคารระหว่างการก่อสร้าง และการเปลี่ยนบริษัทที่ปรึกษาและควบคุมการก่อสร้าง

4.ปัญหาเรื่องการปรับแบบให้ผลิตเชื้อเป็นได้นั้น คำตอบคือ ประเด็นโรงงานสามารถผลิตได้ทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย เพื่อป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือการระบาด เนื่องจากเชื้อเป็นสามารถผลิตได้มากกว่าเชื้อตาย 30-100 เท่า เพื่อรองรับภาวะการระบาด และการทำสัญญา อภ.ก็เขียนชัดว่าสามารถปรับเปลี่ยนแบบได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับ อภ.กรณีต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งหมดมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน

การผนึกกำลังต่อต้าน นพ.ประดิษฐครั้งนี้ จึงต้องติดตามว่าจะลงเอยอย่างไร ?

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ Catcat_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 พฤษภาคม 2556