ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในที่สุด "นพ.วิทิต อรรถเวชกุล" ก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในเก้าอี้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้อีกต่อไป หลังคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีมติปลดพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 และตามต่อด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เสนอเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า เรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นมากมายหลายประการ และมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ที่มีนัยสำคัญยิ่ง เนื่องจากฝ่ายหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มแพทย์ชนบทที่เคยฝากผลงานการตรวจสอบนักการเมืองเลวและข้าราชการชั่วเอาไว้มากมาย อาทิ กรณีทุจริตยา ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีเสียงลือหนาหูว่า สนิทสนมกับโรงพยาบาลเอกชนและบริษัทยาข้ามชาติ

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของฝ่ายการเมืองที่จะปลด นพ.วิทิตให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องเพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย และไม่ใช่คนของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่องค์การเภสัชกรรมเท่านั้นที่เกิดกรณีนี้ขึ้น แต่เป็นทุกรัฐวิสาหกิจที่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ย่อมต้องส่งคนของตนเองเข้ามาทำงาน แต่การปลด นพ.วิทิตด้วย 2 ข้อหานั้น ดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลและน้ำหนักที่เพียงพอ

ทั้งเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล 148 ตัน จากประเทศจีน ช่วงอุทกภัยปี 2554 มีการปนเปื้อนไม่ได้มาตรฐาน และเรื่องการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ล่าช้า

โดยกรณีจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลนั้น นพ.วิทิตอธิบายเอาไว้ชัดเจนว่า "เป็นการตัดสินใจในภาวะน้ำท่วมเป็นหลัก และเตรียมขั้นตอนในการดูแลวัตถุดิบเอาไว้แล้ว โรงงานก็เสร็จ เครื่องจักรก็มี วัตถุดิบก็ยังไม่หมดอายุ ถึงแม้ว่าเปิดถังออกมาจะมีการปนเปื้อนบ้าง ก็เป็นขั้นตอนของการตรวจสอบคุณภาพที่ต้องรีเจกต์ออกไป แล้วเปลี่ยนอันใหม่มา ถือว่าเป็นกระบวนการปกติที่ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่เป็นประเด็นได้เลยในความรู้สึกของผม แต่ก็มีการเอามาเป็นประเด็น เอามาพูดจนเป็นเรื่องเป็นราว และนำมาสู่ความชอบธรรมในการที่จะปลดออก ก็ถือว่ามีธงที่จะปลดอยู่แล้ว ไม่เป็นไร"

ส่วนกรณีการสร้างโรงงานผลิตวัตซีนล่าช้า ก็ดูจะไม่มีน้ำหนัก เพราะถ้า เรื่องนี้มีความผิดจริง คงมีหัวหน้าหน่วยราชการโดนปลดกันจ้าละหวั่น ที่เห็นได้ชัดก็คือ การก่อสร้างสถานีตำรวจที่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีตำรวจหน้าไหนต้องถูกเซ่นสังเวยแม้แต่คนเดียว หรือแม้กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีตัวอย่างการก่อสร้างโรงพยาบาลที่ล่าช้าให้เห็นเช่นกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวคำถามจึงเกิดขึ้นว่า อะไรคือเบื้องหน้า เบื้องหลังที่แท้จริงกันแน่

ก. แค่เป็นเพราะ นพ.วิทิตไม่ใช่คนของตัวเอง

ข. หรือมีความเกี่ยวพันกับความพยายามในการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม

ค. หรือเกิดจากการที่ นพ.วิทิต ไม่ยอมศิโรราบด้วยการส่งเงินส่วนลดค่าซื้อยาที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรได้ 75 ล้านบาท ให้กับ สธ. และไม่ยอมส่งคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอลให้กับบริษัทต้นทาง ดังเช่นที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ.และกลุ่มแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกต

ง. หรือเป็นเพราะมีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ก้อนมหึมาในธุรกิจยาข้ามชาติ

หรือ จ. ถูกทุกข้อ

สำหรับความพยายามในการปลด นพ.วิทิตนั้น เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ นพ.วิทิตได้รับคัดเลือกจากพรรคเพื่อไทยให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปลายปี 2555 หลัง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานบอร์ดขณะนั้น ไม่เล่นด้วย และตัดสินใจลาออก

จากนั้นได้มีการแต่งตั้ง นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นเป็นประธานบอร์ด อภ. ซึ่งเพียงแค่ 3 เดือนเก้าอี้ของ นพ.วิทิตก็ถูกเขย่ารายวัน จากกรณีปัญหาปัญหาวัตถุดิบยาพาราเซตามอลไม่ได้มาตรฐาน โดยมีการยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ของ "ธาริต เพ็งดิษฐ์" รับหน้าเสื่อในการสอบสวนเรื่องนี้

และแน่นอนว่า ดีเอสไอในยุคนี้ก็ทำงานได้อย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม เพราะถัดจากนั้นไม่นานนัก คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ดีเอสไอก็ชี้มูลความผิด นพ.วิทิต ว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยลาก นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ.เข้าไปด้วย

และอีก 15 วันถัดมาคือวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ว่า ดีเอสไอก็เปิดผลสอบเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ล่าช้า โดยระบุว่ามีการฮั้วประมูลเช่นกัน ทั้งๆ ที่ นพ.วิทิต เพิ่งส่งข้อมูลให้ดีเอสไอสอบสวนในช่วงเย็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 เท่านั้น

ที่เด็ดสะระตี่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 บอร์ด อภ.โดย นพ.พิพัฒน์ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติกับรัฐมนตรีก็เด้งรับด้วยการมีมติเลิกจ้าง นพ.วิทิต ทันที จนมีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

เพราะเป็นการปลดทั้งๆ ที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาในเก้าอี้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นพ.วิทิตสร้างผลงานเอาไว้มากมาย ไล่เรื่อยมาตั้งแต่มีส่วนร่วมสนับสนุนการเปิดสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) รวมถึงการจัดระบบยาใหม่ จนทำให้ยารักษาโรคเรื้อรังหลายขนาน ไม่ว่าจะโรคเอดส์ โรคมะเร็ง หรือโรคไต ถูกลงกว่าเท่าตัว ขณะเดียวกันกำไรของ อภ.ก็พุ่งขึ้นจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า การปลด นพ.วิทิต ออกจากตำแหน่งมีกระแสข่าวหนาหูว่าเป็นใบสั่งแต่ต้นในการจ้องทำลาย อภ. ให้เสียความน่าเชื่อถือในเรื่องการผลิตและนำเข้ายาสามัญ หรือยาที่มีคุณภาพเทียบเท่ายาต้นแบบ แต่ราคาถูกกว่า โดยต้องการเปิดตลาดให้กับบริษัทยาข้ามชาติ ล่าสุดมีกรณีที่เข้าข่ายข้อกังวลดังกล่าวคือ ผู้บริหารของทาง บริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้ทำหนังสือลงวันที่ 24 เม.ย. 2556 เพื่อขอเข้าพบ นพ.ประดิษฐ เพื่อหารือนโยบายด้านสุขภาพ ซึ่งกำหนดการเข้าพบภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

ด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายกำหนดให้โรงพยาบาลรัฐบาลทั่วประเทศ จัดซื้อยาจาก อภ.เป็นอันดับแรก เนื่องจากยาของ อภ.มีราคาถูกกว่าบริษัทยาเอกชนอย่างไรก็ตาม ข่าวเสียหายที่เกี่ยวข้องกับ อภ.อาจทำให้หน่วยบริการและโรงพยาบาลจำนวนมากหันไปจัดซื้อยาจากบริษัทยาเอกชนแทน ซึ่งจะสร้างกำไรให้กับบริษัทเหล่านี้มหาศาล และกลายเป็นภาระให้กับผู้บริหาร อภ.คนต่อไปอย่างมาก

ส่วนข่าวเรื่องบริษัทยา หากขอเข้าพบจริง เรื่องนี้น่ากังวลว่าจะมีการหารือเรื่องอะไร และจะส่งผลต่อการผลิตและนำเข้ายาสามัญหรือไม่ เพราะปัจจุบันผู้ป่วยโรคร้ายแรงยังจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้

สอดคล้องกับ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่ระบุชัดเจนว่า ฝ่ายการเมืองตัดสินใจปลด นพ.วิทิตเนื่องจากต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยาข้ามชาติ ด้วยการยกเลิกสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ซึ่ง นพ.วิทิต เป็นผู้ริเริ่ม ขณะเดียวกันการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ นพ.วิทิต ยังทำให้รายได้ของ อภ.เพิ่มจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้รายได้ของบริษัทยาเอกชนหายไปกว่าปีละ 7,000 ล้านบาท

ส่วนในกรณีการแปรรูป อภ.นั้น นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. แสดงความคิดเห็นว่า การปลดครั้งนี้เป็นเพราะ นพ.วิทิต ไม่ทำตามฝ่ายการเมือง และเชื่อว่าการแทรกแซงมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการแปรรูป อภ.

ทั้งนี้ ล่าสุด นพ.วิทิตก็ยอมรับว่าเคยมีคนระดับผู้ใหญ่สอบถามความคิดเห็นในเรื่องนี้ ในลักษณะของการโยนหินถามทาง ซึ่งหากจะมีการแปรรูปจริงก็ทำได้ยาก เพราะ อภ. ต้องดูแลด้านยาให้กับคนไข้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม นพ.ประดิษฐได้กล่าวยืนยันเสียงแข็งว่าไม่มีการเมืองแทรกแซงและบอร์ด อภ.มีวิจารณญาณ จะสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้

เช่นเดียวกับ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.ที่กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีธง โดยในบอร์ด อภ.ประกอบด้วยทั้งข้าราชการ ข้าราชการเกษียณ บุคคลภายนอก ซึ่งทุกคนมีดุลยพินิจว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร

แน่นอน ถึงตรงนี้ สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า กรณีการปลด นพ.วิทิตไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะมองข้าม เพราะได้กลายเป็นการปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบทกับกลุ่มแพทย์พาณิชย์แทบจะทุกประเด็น ซึ่งประเด็นล่าสุดที่กำลังถูกนำมาขยายผลก็คือ การที่ นพ.ประดิษฐ กล่าวในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาโดยยอมรับและส่งเสริมระบบ Patent Pool (ระบบแบ่งปันการใช้สิทธิบัตร) ซึ่งถูกแนวร่วมแพทย์ชนบทมองว่า เป็นการพูดที่สะท้อนว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องระบบสิทธิบัตรยาและผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่อการเข้าถึงยาของประชาชน เนื่องจากเงื่อนไขของระบบแบ่งปันการใช้สิทธิบัตรหรือ patent  tool นั้น ทำให้ไทย เสียเปรียบเป็นอย่างมาก อาทิ การผลิตก็ต้องแค่บริษัทในอินเดียผลิต ยาบางตัวไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับปานกลาง เช่น ไทย จีน บราซิล หรือยาบางตัวแม้ในประเทศไทยไม่มีสิทธิบัตร แต่ในสัญญาของ patent tool จะผลิตได้ต้องไปขออนุญาตก่อน ซึ่งไม่มีความจำเป็นสำหรับไทย ในเมื่อไม่มีสิทธิบัตรในไทยทำไมเราจะต้องไปขออนุญาตผลิตอีก หรือยาบางชนิดเราอยากได้แต่ไม่ให้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขยิบย่อยแบบนี้ คือการทำตามความต้องการของบริษัทยาทั้งหมด จึงเท่ากับเป็นสัญญาลูกไล่ของบริษัทยา

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจับตามองอย่างไม่กะพริบตาว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบสาธารณสุขไทยชนิดพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดินหรือไม่

อีกไม่นานคงได้รู้กัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ วันที่ 25 - 31 พ.ค. 2556