ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมแพทย์ชนบท เดินหน้าชุมนุมค้าน p4p หน้าโรงแรมลายทอง อุบลราชธานีวันนี้ เผยตำรวจอุบลฯ เตรียมกั้นคนชุดดำไม่ให้เข้าพื้นที่โรงแรม เล็งซ้อนกล ใช้อารยะขัดขืนอย่างสันติ "ส.ว.ประสาร" แฉแผนรัฐบาล หวังฮุบงบประมาณแสนล้านในระบบสาธารณสุข เริ่มจากปลดหมอวิทิต ยึด สสส. บีบหมอชนบทอยู่ไม่ได้ สุดท้าย รพ.เอกชนครองเมือง คนจนถูกทอดทิ้ง

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา  กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล จาก ผอ. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า เหตุผลที่ใช้ปลดเป็นการอ้างข้อหาเลื่อนลอย แต่เหตุผลแท้จริงคือหมอวิทิตไม่ก้มหัวให้การเมืองที่ให้ส่งเงินส่วนลด 75 ล้านบาทค่า ซื้อยาของ สปสช. ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เป็นย่างก้าวสามานย์เพื่อรุกรานระบบสาธารณสุขของคนไทย เพื่อจะคืบคลานไปสู่การยึดครององค์การเภสัชกรรม เอาไว้ในมือ เตรียมขยายไปสู่การแย่งยึดองค์กร ส.ทั้งหลาย เช่น สสส. ซึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยง NGO ทั้งๆ ที่ สสส.สนับสนุนองค์กรเพื่อสุขภาวะ นับพันนับหมื่นโครงการ และ 70% เป็นโครงการใหม่ๆ ในแต่ละปี

"ฝ่ายการเมืองอิจฉาตาร้อนงบ สปสช.ปีละนับแสนล้านที่มีบอร์ด มีกฎหมายและมีงบของตนเองเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข จึงหวังจะรวบมาไว้ใต้การบัญชาของตนเอง เช่น P4P หากเขาทำสำเร็จ แพทย์ชนบทที่ดูแลคนไข้รากหญ้าอยู่ทั่วแผ่นดินจะถูกบีบให้ลาออกไปรับจ้าง รพ.เอกชนที่เกิดขึ้น เป็นดอกเห็ดในเมืองใหญ่ ระบบสาธารณสุข ที่คนจนเข้าถึงได้ จะกลายเป็นระบบสาธารณทุกข์ที่ทอดทิ้งคนจน" ส.ว.ผู้นี้ กล่าว

อีกด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท แจ้งถึงการชุมนุมที่โรงแรม ลายทอง อุบลราชธานี โดยระบุว่า สถานการณ์ด่วนจากอุบล การชุมนุมค้าน p4p ที่โรงแรมลายทอง ตำรวจพร้อมจะกั้นและกันคนชุดดำไม่ให้เข้าพื้นที่โรงแรม แต่เราจะซ้อนกล เนื่องจากเครือข่ายมีมาก หลากหลายองค์กร แม้ทางกระทรวงจะรู้ก็ไม่เป็นไร เราไปอารยะขัดขืนอย่างสันติ แต่กระทรวงกลับเห็นเราเป็นศัตรู ขอให้เครือข่ายทุกท่าน รับทราบสถานการณ์ว่าจะมีการกันทุกทาง และปิดกั้นการแสดงออกของคนชุดดำเราจึงจะดำเนินการดังนี้

1. ขอนัดพร้อมกันที่โรงแรมลายทองเวลา 7-8โมงเช้า

2. ใส่ชุดวิชาชีพหรือเสื้อผ้าปกติเข้าไปในเขตโรงแรม หรือในห้องประชุม แต่ให้นำเสื้อดำไปด้วย อย่าเพิ่งใส่ก่อน เพราะจะถูกกันไม่ให้เข้าไป

3. ใครมาถึงก่อนจับกลุ่มเตรียมพร้อมกางไวนิวรอเลย เข้าไปแล้วจับกลุ่มให้มั่น เขาจะเชิญเราออกยาก

4. ตัวแทนกลุ่มมาขอรับสติกเกอร์แปะเสื้อ หมวก ได้ที่แกนนำ ทั้งหมด 3 รูปแบบ 1. หมอดูแลประชาชนไม่ล่าแต้ม 2. stop p4p 3. pradit get out รับแล้วแจกกันให้ทั่วถึง พร้อมรับเอกสารต่างๆแถลงการณ์พร้อมปฏิทินนัดหมาย โดยการส่งต่อกันอย่างทั่วถึง

5. รอรับสัญญาณพร้อมทำตามเสียงไฮด์ปาร์ก ส่วนจะเป็นใครที่จะนำไฮด์ปาร์ก นั้น ท่านจะได้ยินเสียงเอง ขอปิดชื่อไว้ก่อน เผื่อว่าจะได้ไม่ถูกอุ้มครับพี่น้อง

โดยเชิญชวนร่วมกันจัดทัพใหญ่ คนชุดไม่ดำที่พร้อมแปลงร่างเป็นคนชุดดำที่อุบลฯ พรุ่งนี้ ไปกันให้มากๆ มากจนตำรวจ รปภ.เอาไม่อยู่ เพื่อประกาศก้องว่า "เราไม่เอา P4P" และเมื่อประดิษฐเห็นเราเป็นศัตรู แทนที่จะเห็นว่าเราเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความทุกข์มีความเห็นต่าง แบบนี้ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของเรา "ประดิษฐต้องออกไป"

วันเดียวกันนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นกับคณะของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะ โดยประเทศญี่ปุ่นได้ส่ง นายคัตสุโนริ ฮารา อธิบดีสำนักสุขภาพและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ และคณะผู้เชี่ยวชาญ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ ที่โรงแรมเพนนินซูลา ประเทศญี่ปุ่นว่า ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้นำเสนอถึงปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ โดยญี่ปุ่นใช้เวลาเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรสูงอายุจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาเพียง 25 ปี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ที่ใช้เวลาประมาณ 50-120 ปี ญี่ปุ่นจึงต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลผู้สูงอายุ จนต้องจัดให้มีระบบประกันการดูแลระยะยาว ออกเป็นกฎหมาย ให้มีการจ่ายเงินเป็นค่าประกัน เริ่มจ่ายอายุ 40 ปี แต่จะมีผลในการใช้ เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เพื่อดูแลผู้สูงอายุในการใช้ชีวิต นอกเหนือจากระบบประกันสุขภาพ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ญี่ปุ่นให้คำแนะนำว่า ประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเร็ว ในประเทศฝรั่งเศสใช้เวลา 100 กว่าปี จึงจะมีผู้สูงอายุ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนญี่ปุ่นใช้เวลา 25 ปี ส่วนไทยใช้เวลา 22 ปี ซึ่งน้อยกว่า จึงต้องรีบป้องกันไว้ก่อน เพราะถ้าเวลามาถึง จะเตรียมตัวปรับตัวไม่ทัน เกิดปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งประเทศไทยได้กระตุ้นเพิ่มสัดส่วนประชากรให้สมดุลกัน คือให้มีเด็กมากขึ้น มีคนวัยหนุ่มสาว คนสูงอายุในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยญี่ปุ่นมีโครงการกระตุ้นให้คนสูงอายุในวัยเกษียณ ออกมาทำงานตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดภาระในการดูแล

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 27 พฤษภาคม 2556