ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ฝ่ายการเมืองจะเข้าไปกำกับดูแลหน่วยงานตระกูล ส. ในประเทศไทย ด้วยมองว่ามีเงินงบประมาณจำนวนมากที่ฝ่ายการเมืองจะเข้าไปหาประโยชน์ได้เหมือนกับกระทรวงต่าง ๆ ในเวลานี้ หนึ่งในนั้นมีหน่วยงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

"มีการแทรกแซงเป็นระยะ ต่อสู้เป็นระยะ ตอนนี้หน่วย สปสช.โดนแทรกแซงอย่างรุนแรงและสู้กันอย่างรุนแรง เป็นไงก็เป็นกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ" นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ภายหลังงานแถลงข่าว "สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ : 1 ทศวรรษ สสส. สร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมไทย"

แต่เมื่อเหลียวหน้าแลหลังองค์กร สสส. ที่เป็นที่รับรู้ของคนส่วนใหญ่ว่ามาช่วยเตือนให้ประชาชนรักษาสุขภาพ ด้วยการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ตลอดจนส่งเสริมให้คนหันมาออกกำลังกาย เลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นแนวทางป้องกันโรคก่อนที่โรคจะมาเยือน นับตั้งแต่ก่อตั้งมาจวบจนวันนี้อายุของหน่วยงานนี้ก้าวสู่ปีที่ 12 แล้ว จากการสรุปผลงานแต่ละด้าน สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย คนไทยเสียเงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว จาก 154,998 ล้านบาท ในปี 2550 ลดลงเหลือ 137,059 ล้านบาท ในปี 2554 เท่ากับสามารถประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 18,000 ล้านบาท (สำนักบัญชีประชาชาติ สศช., ปี 2555)

วิธีการทำงานเพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักด้านแอลกอฮอล์ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายจนเกิดองค์ความรู้และโครงการสำคัญ อาทิ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่ปี 2546-2555 เฉพาะในช่วงเข้าพรรษาสามารถลดค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท โครงการของขวัญปลอดเหล้าเริ่มครั้งแรกในปี 2551 โครงการรับน้องปลอดเหล้า เริ่มในปี 2549 จากตัวเลขที่สูงถึง 53.7 ในปีแรก ๆ และในปี 2552 เหลือเพียง 9.8

ส่วนการทำงานเพื่อให้คนหันมาตระหนักพิษภัยของบุหรี่นั้นที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และนักวิชาการ ส่งผลให้แนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลงตามลำดับในช่วงปี 2534-2552 (จากร้อยละ 32.0 เหลือร้อยละ 20.70) อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 อัตราการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการบังคับใช้ ก.ม. ไม่เต็มที่ ทั้งการควบคุมด้านโฆษณา การส่งเสริมการขาย อีกทั้งบริการเลิกบุหรี่ยังไม่อยู่ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ หากทำได้สำเร็จจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เลิกสูบ

จากการทบทวนผลงานนับตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรมาสิบปี สสส. ได้รับการยกย่องจากคณะผู้ประเมินระดับนานาชาติจากองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ว่าเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  (Learning organization) ที่มาจากประสบการณ์ในการทำงาน มีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ สสส.สามารถเป็นต้นแบบที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจ โดยมีลักษณะเด่น 4 ประการ คือ 1. เป็นกลไกทางการเงินเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากภาษีสรรพสามิตเหล้าและบุหรี่ (Funding mechanism from levy on alcohol and tobacco)

2. การทำงานโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน (Multisectoral platform) ไม่จำกัดเฉพาะความร่วมมือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขเท่านั้น 3. ความก้าวหน้าทางความคิดและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพ 4. สสส. โดดเด่นในเรื่องการสื่อสารสุขภาวะและการตลาดเพื่อสังคม

คณะผู้ประเมินได้ให้ว่าทศวรรษหน้าควรเป็นทศวรรษแห่งการประเมินผล การเรียนรู้ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทศวรรษหน้า สสส.ควรเป็นสถาบันชั้นนำในการใช้การประเมินผลเป็นเครื่องมือพัฒนาระบบการประเมินด้านผลกระทบ (Impact evaluation) ทั้งนี้ หากมีข้อมูลไม่เพียงพอ สสส. ควรสนับสนุนให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูล ควรถ่ายทอดผลการวิเคราะห์และสิ่งที่เรียนรู้จากการประเมินผลสู่วงกว้างทั้งในและต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ค.นี้ สสส. ได้เตรียมจัดงาน "สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ : 1 ทศวรรษ สสส. สร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมไทย" ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยเป็นมหกรรมสร้างเสริมสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ในโอกาสการดำเนินงานของ สสส. ครบรอบ 12 ปี

นพ.วิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินการร่วมกับ "ภาคีสร้างเสริมสุขภาพ" จากทุกภาคส่วนจนมีภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมสุขภาวะมากกว่า 300 หน่วยงาน/องค์กร รวมทั้งสิ้น 10,942 ราย เกิดโครงการสร้างสุขภาพถึง 12,365 โครงการ สสส. ได้สร้างวัฒนธรรมสร้างสุขภาพครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีต่างประเทศมาศึกษาการดำเนินงานของ สสส. มากกว่า 20 ประเทศ อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ มองโกเลีย ภูฏาน และ สปป.ลาว และนำองค์ความรู้จาก สสส. ไปดำเนินการจัดตั้งองค์กรสร้างเสริมสุขภาพในประเทศของตน

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อรวบรวมภาคีเครือข่ายครั้งใหญ่ในรอบ 12 ปี ในการทำงานของ สสส. จะทำให้เกิดการพัฒนายุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพระยะยาว โดยภายในงานจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสร้างเสริมสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น เชิงวิชาการ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสู่การผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น และระดับชาติด้วย ผู้สนใจสามารถไปร่วมงานดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.thaihealth.or.th

--จบ--

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--