ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการบุหรี่ "รักไร้ควัน" (Be loved, Not smoke) ว่า ผลจากการขับเคลื่อนงานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในสังคมไทยกว่า 25 (ปี พ.ศ.2529-2554) ปรากฏผลสำเร็จอย่างชัดเจนและน่าพอใจ โดยปี พ.ศ.2534 มีผู้สูบบุหรี่ 12.26 ล้านคน จากประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป 38.3 ล้านคน คิดเป็น 32% ส่วนปี พ.ศ.2554 มีผู้สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน จากประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 53.9 ล้านคน คิดเป็น 21.4% เมื่อคิดเป็นจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงกว่าที่ควรจะเป็นเท่ากับ 5.7 ล้านคน จำนวนผู้สูบบุหรี่ เมื่อแบ่งเป็น เพศชายจาก 59.3% ในปี พ.ศ.2534 ลดเหลือ 40.7% ในปี พ.ศ.2554 ส่วนเพศหญิง จาก 4.9% ลดเหลือ 2.1% โดยเฉพาะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 25.47% ในปี พ.ศ.2544 เหลือ 21.4% ในปี พ.ศ.2554 สอดคล้องกับอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านลดลง โดยในปี พ.ศ.2550 คนไทยที่สูบบุหรี่สูบในบ้าน 58% ลดลงจากที่เคยสูบในบ้าน 85% ในปี พ.ศ.2544 นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะจากการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ 100% ด้วย

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2552 มีคนไทยที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วราว 6.3 ล้านคน ซึ่งหากคำนวณตามสถิติที่พบว่าคนที่สูบบุหรี่ต่อไปโดยไม่หยุด 1 ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตก่อนเวลาจากการสูบบุหรี่ จะคิดเป็นจำนวนคนไทยที่รอดพ้นจากการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้ถึง 2.1 ถึง 3.15 ล้านคน ด้านนโยบายการขึ้นภาษียาสูบตามการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ ทำให้ช่วงปี 2535-2555 มีการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรต 10 ครั้ง เฉลี่ยมีการขึ้นภาษีทุก 2 ปี ทำให้รัฐบาลเก็บภาษียาสูบได้เพิ่มขึ้นจาก 15,438 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2536 เป็น 59,914 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2555 สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการทางภาษีเป็นมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ได้ผลเป็นอย่างดี แต่ต้องทำควบคู่กับการให้ความรู้ และรณรงค์ทางสังคมด้วย ในส่วนของจำนวนบุหรี่ที่สูบในช่วง ปี พ.ศ.2533-2555 มียอดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตคงที่อยู่ที่เฉลี่ยราวปีละ 2 พันล้านซองโดยยอดจำหน่าย พ.ศ.2533-2536 เท่ากับ 2,000 ล้านซองต่อปี เปรียบเทียบยอดจำหน่าย พ.ศ.2537-2544 เท่ากับ 2,100 ล้านซองต่อปี และภายหลังการจัดตั้ง สสส.ระหว่าง พ.ศ.2545-2555 เท่ากับ 1,933 ล้านซองต่อปี

ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.มุ่งเน้นการสนับสนุนการทำงานของภาคีเครือข่ายด้านควบคุมยาสูบ ทั้งด้านวิชาการ การขับเคลื่อนสังคม และการพัฒนานโยบายสาธารณะให้เชื่อมโยงและสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนมาตรการการควบคุมการบริโภคยาสูบในหลายมาตรการพร้อมกัน เช่น ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ มาตรการด้านภาษี ควบคุมการโฆษณา คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และการช่วยเลิกบุหรี่ นอกจากนี้ ได้ร่วมผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ...ให้ทันสมัย เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ (อายุ 15-24 ปี) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ และการพัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกบุหรี่อีกด้วย

 ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง