ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บริษัทจีนไม่รับคืนวัตถุดิบยาพาราฯเหตุต้องจ่ายภาษีนำเข้าอีก 6 ล้านบาท เจรจายุติเป็นแลกเปลี่ยนวัตถุดิบเก่า-ใหม่ ภายใน3 เดือน คาดโรงงานแมสโปรดักชันเสร็จส.ค.56 เริ่มผลิตยาลดน้ำตาลในเลือด - ยาลดไขมันในเลือด ไม่ต่ำกว่ากำลังการผลิตเดิม 400 ล้านเม็ด

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัด ซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลและการก่อสร้างโรงงานยาต้านไวรัสเอดส์ล่าช้า ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตยาพาราเซตามอลของอภ.ว่า การที่ตนได้รับตำแหน่งประธานฯไม่ใช่เพราะไม่ถูกกับนพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผอ.อภ. ขอยืนยันว่าตนไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ กับ นพ.วิทิต ที่ผ่านมาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ส่วนการที่เลือกตน อาจเป็นเพราะไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เกี่ยวข้องกับ อภ. น่าจะมีความเป็นกลางที่สุดแล้ว

"การทำหน้าที่คณะกรรมการฯเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เป็นกลาง และยึดตามข้อเท็จจริง ซึ่งจากการตรวจสอบในหลายๆ เรื่อง อย่างกรณีโครงการแมสโปรดักชันที่การปรับปรุงโรงงานผลิตยาพาราเซตามอลเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ก็พบว่ามีการดำเนินการที่ไม่สมเหตุสมผลและมี ข้อสงสัยหลายประการจริง เช่น โรงงานจะต้องเสร็จใน พ.ย. 2554 แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ หรือการแยกโรงงานเป็น 2 ส่วน 2 สัญญา ตรงนี้ทำให้ อภ.เสียหาย จนถูกปรับวันละ 5 หมื่นบาท รวม 1 ปีเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท"นพ.นิพนธ์กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของปัญหาความล่าช้าการก่อสร้างโรงงานแมสโปรดักชัน พบว่าเป็นการก่อสร้างโดยวิธีพิเศษโดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงขอตรวจสอบดูเอกสารและรายละเอียดต่างๆ พบว่ามีการทำราคากลางของอาคารทั้ง 2 หลังพ่วงกัน คือ งานปรับปรุงอาคารตอกเครื่องและบรรจุยาเม็ด(อาคารแมสโปรดักชัน) และงานปรับปรุงอาคารพิกุลเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพยา โดยคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ได้ทำหนังสือสรุปราคาส่งถึง ผอ.อภ. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2553 โดยมีมติอนุมัติใช้ราคากลางในการก่อสร้าง 70 ล้านบาท โดยระบุให้ดำเนินการจัดจ้างประกวดราคาตามขั้นตอนต่อไป

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว จึงทำการตรวจสอบว่าความล่าช้าในการก่อสร้างเกิดจากอะไร พบว่ามีการแยกใบขออนุมัติแยกเป็นประเภทของโครงสร้าง เครื่องปรับอากาศ และเครื่องจักรผลิตยา ออกเป็น 6 ใบ รวมแล้วเป็นเงิน 76 ล้านบาท จึงได้สอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้อง ได้คำตอบว่าเป็นการแยกงบไปแต่ละส่วน เช่น ถ้าเป็นงบครุภัณฑ์ ก็เป็นในส่วนของครุภัณฑ์ ส่วนงบก่อสร้างก็ไปอยู่ในส่วนของการก่อสร้าง ซึ่งตรงนี้ทางคณะกรรมการไม่ได้ติดใจ แต่หากเทียบกับการดำเนินงานของ สธ. จะเห็นว่า การอนุมัติจะไปรวมอยู่ในโปรเจคเดียวกันไม่มีการแยกส่วน และเมื่อตรวจสอบอีกพบว่าการจัดจ้างนั้นตั้งต้นด้วยวิธีพิเศษ ทั้งที่คณะกรรมการอนุมัติราคากลางเขียนว่า ให้ดำเนินการจัดจ้างประกวดราคาตามขั้นตอนต่อไป

"จากการตรวจสอบพบว่าครั้งแรก บ.วินชิว เสนอราคาเข้ามา 71 ล้านบาท แต่เนื่องจากเกินราคากลางจึงยกเลิก แต่หลังจากนั้นใบเสนอราคาครั้งที่ 2 มีการแยกงานออกเป็น 2 ส่วน คือ แยกอาคารแมสโปรดักชัน ออกจากอาคารพิกุล จึงสอบถามว่าเหตุใดจึงทำการแยกออกเป็น 2 ส่วน แต่ทางคณะกรรมการไม่เห็นเอกสาร ทางคณะกรรมการจึงตั้งข้อสังเกตว่า จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าการเปลี่ยนการก่อสร้าง ออกเป็น 2 โครงการนั้น มีเหตุผลอะไร เกี่ยวกับอำนาจการบริหารหรือไม่ เพราะหลังจากแยกสัญญา จากเดิมอำนาจอนุมัติจะเป็นของประธาน บอร์ด อภ. จะเปลี่ยนไปเป็น อำนาจของผู้อำนวยการ อภ. ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสัญญา มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง" นพ.นิพนธ์ กล่าว

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังทางคณะกรรมการยังพบว่า ระหว่างดำเนินการมีการปรับแบบก่อสร้างหลายครั้ง จนส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามสัญญา จึงก่อให้เกิดความล่าช้า ทางคณะกรรมการจึงพยายามตรวจดูว่า ทุกครั้งที่มีการปรับแบบนั้น มีการรายงานให้ผู้มีอำนาจรับทราบหรือไม่ เพราะหากดูในเรื่องของระยะเวลาดำเนินการ พบว่าได้มีการขยายสัญญาออกไป 2 ครั้ง โดยครั้งแรกขยายออกไป 100 วัน ครั้งที่สอง 515 วัน ซึ่งพอตรวจสอบเอกสารกลับพบว่าในการขยายสัญญาครั้งแรกนั้น ยังไม่ได้มีการขยายสัญญากันอย่างถูกต้อง เพราะเพิ่งจะมีการทำสัญญาย้อนหลัง ก่อนหน้าที่จะต่อสัญญาครั้งที่สอง ซึ่งการขยายสัญญาก่อนสร้างออกกว่า 615 วัน ทำให้ อภ.ไม่ได้ค่าปรับตามสัญญา กว่า 30 ล้านบาท

ด้าน ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รักษาการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า การคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอลที่มีข่าวการปนเปื้อน ซึ่งมีการสั่งซื้อ 2 ล็อต ล็อตแรกจำนวน 48 ตัน และล็อตที่ 2 จำนวน 100 ตัน โดยมีการทดลองผลิตไปจำนวน 4 ตัน ทำให้เหลืออยู่ในคงคลังอีก 144 ตันนั้น หลังจากมีข่าวการปนเปื้อน อภ.มีการดำเนินการส่งวัตถุดิบคืน ซึ่งล่าสุดจากการหารือกับบริษัทนำเข้าวัตถุดิบจากจีนว่าจะส่งคืนได้หรือไม่ ปรากฏว่าไม่สามารถส่งคืนได้ เพราะกฎหมายของประเทศจีนในการนำเข้ายาใหม่จะต้องเสียภาษีนำเข้า 30% หรือประมาณ 6 ล้านบาท ทำให้บริษัทจีนไม่ยินยอม เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพยา หรือเป็นความผิดของบริษัท จึงได้มีการหารือและสรุปให้เป็นการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบแทน

"โดยทางบริษัทจีนจะส่งวัตถุดิบยาพาราฯที่ผลิตขึ้นใหม่จำนวน 144 ตันมาให้ไทย และไทยจะส่งคืนวัตถุดิบเก่ากลับไป โดยที่ไม่มีฝ่ายใดต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน วัตถุดิบจะส่งถึงไทย ส่วนจะสามารถผลิตในโรงงานแมสโปรดักชันที่ อภ.เตรียมรองรับไว้ผลิตยาได้หรือไม่นั้น ต้องดูที่ความพร้อม เบื้องต้นโรงงานดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2556 เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบการใช้เครื่องจักรเสียก่อน"รักษาการผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ