ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอประดิษฐ" เล็งฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายโรงงานวัคซีนล่าช้า ขณะที่ "หมอวิทิต" ยัน ไม่ได้ละเลยการเรียกค่าปรับผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานวัคซีน กมธ.ศึกษาปัญหาการบริหารโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ ตรวจสอบการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม เหตุไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนพร้อมเตรียมเรียก ดีเอสไอ ให้ข้อมูล 12 มิ.ย. นี้

หลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบริหารโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขนาดใหญ่ วุฒิสภา ประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันนั้นได้เชิญ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการสำรองวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล จำนวน 148 ตัน  นพ. สมชัย นิจพานิชย์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก จ.สระบุรี และ ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รักษาการ ผอ.อภ. เข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง  กรณีเรื่องการใช้อำนาจในการตรวจสอบการทำงานของ องค์การเภสัชกรรม โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความผิด

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบริหารโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขนาดใหญ่ กล่าวว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การเภสัชกรรม ร้องขอให้มีการตรวจสอบกรณีที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายกมล บันไดเพชร เลขาฯ ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สอบสวนการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนฯ และการสำรองวัตถุดิบผลิตยาพาราฯ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในก่อนนั้น ถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่ ทำผิดขั้นตอนหรือไม่ ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการฯ จะเป็นการตอบข้อร้องเรียนเท่านั้น ไม่ลงไปถึงกรณีทุจริต เพราะว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อดูภาพรวมแล้ว รมว.สธ.ท่านสนใจเรื่องการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนฯ เนื่องจากจะต้องเป็นผู้เสนอขอขยายระยะเวลาในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนฯ ต่อครม. จึงได้เรียกประธานบอร์ด อภ.มาสอบถามแต่ไม่ตอบ ไม่ส่งการบ้าน จึงให้ประธานบอร์ด อภ.ตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ดังนั้นจึงส่งเรื่องให้ดีเอสไอช่วยสอบหาข้อเท็จจริง

ส่วนเรื่องการปนเปื้อนของวัตถุดิบผลิตยาพาราฯ นั้นเข้าใจว่ามาทีหลัง และที่เรายังหาข้อสรุปไปไม่ได้คือกรณีดีเอสไอไปตั้งโต๊ะแถลง ตรงจุดนี้ที่ทำให้ทางสหภาพฯ รู้สึกว่ายังไม่มีการสอบสวนภายใน เพราะเขาไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้ รมว.สธ.ได้มีการสอบสวนไปส่วนหนึ่งแล้ว  ขั้นต่อไปจะเชิญดีเอสไอมาสอบถามเพิ่มเติมในวันที่ 12 มิ.ย. ที่จะถึงนี้" พล.อ.อ.วีรวิท กล่าว

หมอประดิษฐยันทำตามขั้นตอน

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า  การตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม ทำถูกต้องตามขั้นตอนหมด แต่ได้ถามกลับไปแล้วว่าจะให้ทำอย่างไรกับกลุ่มสหภาพ เพราะถ้าบอกว่าการตรวจสอบคือการทำลายภาพลักษณ์ แต่เนื่องจาก อภ.เป็นองค์กรพิเศษที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน หากไม่พูดก็ไม่รับทราบ แล้วประชาชนมีสิทธิรับรู้ในเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งทางกรรมาธิการบอกว่าควรพูดทุกกรณี แต่ต้องแยกแยะว่าอันไหนเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วก็พูดไป  ถ้าอันไหนยังไม่ได้พิสูจน์ก็ให้พูดไปว่าเป็นยังเป็นข้อสงสัยอยู่ แต่ควรพูดให้ประชาชนรู้เรื่อง ทั้งนี้ตนอยากให้คำพูดนี้ไปถึงกลุ่มสหภาพฯ อภ. ว่าที่พูดก็เป็นเรื่องความปลอดภัย ถ้าเก็บเงียบไว้สอบกันภายในองค์การก็เกรงว่าประชาชนจะเสียประโยชน์ในเรื่องนี้

เผยขอหลักฐานแปรรูป อภ.

ส่วนกรณีที่บอกว่าจะแปรรูป อภ.นั้น ขอให้เอาหลักฐานมายื่นเลย ตนไปพูดที่สาธารณะที่ไหนก็ไม่มีนโยบายที่จะแปรรูป นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีนโยบายที่จะแปรรูป ตนต้องมาพูดย้ำ ไม่เชื่อแล้วจะให้ทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้คงไม่ฟ้อง เพราะยืนยันว่าไม่มีการแปรรูป แต่สหภาพจะทำอย่างไร เมื่อมันไม่มีการแปรรูป 7 ปีข้างหน้าถ้ายังไม่แปรรูป สหภาพฯ จะทำอย่างไร จะร้องเรียนตลอดหรือไม่

ทั้งนี้ หากผลการสอบสวนการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนแล้วเสร็จ โดยพบว่าเป็นความผิดของการบริหารจัดการในขณะนั้นทำให้รัฐสูญเสีย เช่น ไม่ได้เรียกค่าปรับจากผู้รับเหมา ทำให้เสียโอกาสก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ต่อผู้ที่กระทำให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าบอร์ดไม่ทำก็จะผิดข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  เมื่อเห็นคนทำให้เกิดความเสียหายแล้วไม่ฟ้องร้องเรียกเงิน แล้วเข้าใจว่าผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายไม่ได้มีคนเดียว เงินของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องยาโคลพิโดเกรล และ ยาโอเซลทรามิเวียร์ นั้นเป็นเรื่องที่ทางบอร์ดจะสอบสวนต่อไปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ท่านรักษาการ อภ.ก็ต้องให้ความร่วมมือ ถ้ายังไม่ได้ข้อมูลในทุกระดับก็ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเข้ามาดูแลอีก ซึ่ง ดีเอสไอก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง

ชี้วัตถุดิบยาพาราฯ มีปัญหา

นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า วัตถุดิบที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้คือวัตถุดิบยาพาราฯ สำเร็จรูป ที่จะมีหมดอายุภายใน 3 ปี ตามที่โรงงานระบุมา หมดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นไม่สามารถขยายเวลาได้เหมือนกับสารเคมีบริสุทธิ์ที่การผลิตจะต้องทดสอบซ้ำ ก่อนนำมาผสมกับสารเคมีตัวอื่น และนับวันหมดอายุกันใหม่หลังผสมเสร็จ ทั้งนี้วัตถุดิบยาพาราฯ สำเร็จรูปล็อตแรกที่นำเข้ามาเมื่อประมาณเดือน มี.ค. 2554 ถึงเก็บไว้วันนี้ประมาณ 2 ปีแล้ว ส่วนล็อตที่ 2 นำเข้ามาเมื่อเดือนก.พ. 2555 ก็ประมาณ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเก็บรักษาทำให้เกิดเป็นผงสีน้ำตาล ถือว่าผิดกับระเบียบข้อบังคับที่ระบุว่ายาที่จะนำมาผลิตต้องเป็นสีขาวบริสุทธิ์เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สอดคล้องกับที่บริษัทกำหนด แสดงว่าวัตถุดิบนั้นน่าจะมีปัญหาไม่ควรนำมาผลิตเป็นยา

"ยิ่งทำช้าอายุยาก็ยิ่งเหลือน้อย ที่สำคัญคือวัตถุดิบอยู่ในสภาพที่ตัวยามีจุดสีน้ำตาล และเนื่องจากเป็นผงจึงไม่สามารถแคะเอาเฉพาะส่วนที่เป็นสีน้ำตาลมาตรวจสอบได้ แต่ตามมาตรฐานของยาพาราฯ ที่เป็นเนื้อยาเพียวๆ หากเก็บไว้นานตัวยาจะสลายตัวเป็นสารพิษหรือโพพาราฟีนอล จึงกำหนดให้มีสัดส่วนน้อยกว่า 50 PPM และจากการที่เราตรวจสอบสารเคมีตามมาตรฐานของบริษัทที่ตั้งไว้ไม่เกิด 87.5% อันนี้มีปริมาณอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนสารโฟพาราฟีนอลต้องมีค่ามาตรฐานน้อยกว่า 50 PPM ตรวจได้ 50 PPM ถือว่าไม่เกิน แต่ผิดข้อกำหนดที่ระบุว่าจะต้องเป็นผงสีขาวบริสุทธิ์เท่านั้น" นพ.นิพนธ์ กล่าว

หมอวิทิตยืนยันไม่ได้ละเลย

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ. อภ. กล่าวว่า การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนฯ นั้น เราจะทำหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ตอนนี้การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่ได้ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย ยืนยันว่าตนไม่ได้ละเลยเรื่องนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ