ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกสปส. กล่าวถึงผลการศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติกับการได้รับความคุ้มครองสิทธิประกันสังคมของ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) ที่เสนอให้ยกเว้นสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สงเคราะห์บุตรและเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีคลอดบุตร ว่า เห็นด้วยกับผลการศึกษาดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตรซึ่งปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์นี้แก่แรงงานข้ามชาติ เนื่องจากเข้ามาทำงานเพียงระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ควรให้สิทธิประกันสังคมเหมือนกับแรงงานไทย เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ(เอ็มโอยู) กับประเทศต่างๆ ก็จะต้องชี้แจงและทำข้อตกลงว่าแรงงานต่างชาติจะได้รับสิทธิประกันสังคมในกรณีใดบ้าง

“เห็นด้วยกับการออกกฎหมายและตั้งกองทุนประกันสังคมของแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ อาจจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้อยู่ภายใต้การบริหารของสปส. ขณะนี้สปส.กำลังศึกษาการให้ความคุ้มครองสิทธิประกันสังคมแก่แรงงานข้ามชาติเพื่อกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามหลักสากลจะนำผลการศึกษาของปลัดกระทรวงแรงงานเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้และเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาต่อไป” นายอารักษ์ กล่าว

น.ส.เปรมใจ วังศิริไพศาล นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นฐานแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเห็นด้วยกับผลการศึกษาของปลัดกระทรวงแรงงานและควรเก็บเงินสมทบจากแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ แต่กรณีสงเคราะห์บุตรนั้นหากไม่ให้สิทธินี้ รัฐบาลควรมีมาตรการดูแลลูกของแรงงานต่างด้าวเป็นการชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขหากเด็กต่างด้าวเกิดในประเทศไทยก็ควรได้รับการบริการรักษาพยาบาลและฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามเกณฑ์ทางการแพทย์ แต่หากเป็นเด็กต่างด้าวที่โตแล้วและติดตามพ่อ-แม่ที่เข้ามาทำงานในไทย ก็ควรส่งเสริมให้มีการทำประกันสุขภาพแบบรายปี นอกจากนี้เด็กต่างด้าวทุกกลุ่มควรได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียนฟรี 12 ปีเช่นเดียวกับเด็กไทยเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ

ที่มา: http://www.naewna.com