ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในที่สุดคดีการยกเลิกประมูลเช่าคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข มูลค่า 821 ล้านบาท หรือที่รู้จักกันใน "คดีคอมพ์ฉาว" ที่เกิดขึ้นในสมัย "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ดำรงตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข" เมื่อปี 2547 สมัยพรรคไทยรักไทย ก็ใกล้จะสิ้นสุดสำหรับคดีที่อยู่ในมือของ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.)

จากการเปิดเผยของ "ปรีชา เลิศกมลมาศ" กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะกรรมการร่วมรับผิดชอบสำนวนการไต่สวนคดีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลค่า 821 ล้านบาท สมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ ที่บอกว่า ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ จะส่งสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อลงความเห็นว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่อย่างแน่นอนหลังจากเลื่อนการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง

คดีนี้กินเวลาการไต่สวนมาเกือบ 10 ปี จะเรียกว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่าง "ข้าราชการการเมือง" ที่มี "คุณหญิงสุดารัตน์" ในฐานะ "รมว.สาธารณสุข" กับ "ข้าราชการประจำ" นำโดย "นพ.วัลลภ ไทยเหนือ" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น

จนกระทั่ง "คุณหญิงสุดารัตน์" มีคำสั่งปลด "นพ.วัลลภ" ออกจาก "ปลัดกระทรวงสาธารณสุข" และคดีดังกล่าวได้มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. และมีการแต่งตั้ง "ภักดี โพธิศิริ" กรรมการ ป.ป.ช. เป็น "ประธานอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบแห่งชาติ" (ป.ป.ช.)

ต่อมามีข่าวว่า "คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ" มีมติชี้มูลว่ามีการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย!

ทำให้ "คุณหญิงสุดารัตน์" ในฐานะผู้ถูกร้องได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ป.ป.ช.ชุดใหญ่ คณะกรรมาธิการ วุฒิสภา และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่า "ภักดี" มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเคยเป็นประธานคณะกรรมการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ในโครงการดังกล่าวสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่ "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" รมว.ไอซีที ในฐานะ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนสนิทของคุณหญิงสุดารัตน์ ก็ยื่นถอดถอด "ภักดี" ด้วยเช่นกัน

แต่ปรากฏว่าวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอน "ภักดี" ออกจากกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยคะแนนเสียง 84 เสียง ขณะที่เสียงให้ถอดถอนมีเพียง 56 เสียง แต่ผลจากการร้องเรียนครั้งนั้นก็ทำให้ "ภักดี" ต้องถอนตัวจากการรับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าว โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งให้ "วิชัย วิวิตเสวี" และ "ปรีชา เลิศกมลมาศ" กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้แทน

ดังนั้นจึงต้องติดตามดูว่าศึกระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการในคดี "คอมพ์ฉาว" ที่จะเข้าสู่ที่ประชุม "ป.ป.ช.ชุดใหญ่" ในวันที่ 18 มิถุนายนี้ จะชี้มูลความผิดหรือไม่อย่างไร

ขณะที่ "วิชา มหาคุณ" กรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ยังไม่ได้รับสำนวนจากคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าว คงต้องรอเอกสารทั้งหมดก่อนจึงจะสามารถบอกได้ว่าป.ป.ช.ชุดใหญ่ จะตัดสินในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ได้เลยหรือไม่ หรือถ้ากรรมการบางคนเห็นว่าสำนวนยังไม่ครบถ้วนก็อาจให้ไปสอบเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้ยังตอบไม่ได้ต้องขอดูสำนวนก่อน

สำหรับกระบวนการลงมติ "วิชา" บอกว่า ใช้เสียงข้างมาก จากกรรมการป.ป.ช.ทั้งหมด 9 คน สำหรับคดีนี้ไม่มีผลกับตำแหน่งทางการเมืองของคุณหญิงสุดารัตน์ เนื่องจากขณะนี้คุณหญิงไม่มีตำแหน่งทางการเมือง หากมีความผิดก็อาจต้องไปต่อสู้คดีอาญาในชั้นศาล เพราะคดียังไม่สิ้นสุดแค่นี้ทาง ป.ป.ช.ต้องทำสำนวนส่งต่ออัยการ

"หากชี้มูลว่าคุณหญิงทำผิดคดีก็ยังไม่สิ้นสุดต้องส่งสรุปสำนวนส่งต่ออัยการและทางอัยการก็ต้องดูอีกว่าพยานหลักฐานที่มีเพียงพอหรือยังหากเห็นว่าหลักฐานยังน้อยไปก็อาจขอให้ไปหาหลักฐานเพิ่มเติมได้อีก หรือถ้าอัยการเห็นแย้งไม่ฟ้องก็ต้องตั้งกรรมการร่วมส่วนระยะเวลาไม่ได้กำหนดแต่ต้องเสร็จสิ้นโดยเร็วกระบวนการก็เหมือนกับคดีอื่นๆ ที่ป.ป.ช.เคยทำ" กรรมการ ป.ป.ช. กล่าว

ส่วนที่มองว่ากระบวนการทำคดีคอมพ์ฉาวมีความล่าช้ากินเวลาเกือบ 10 ปี เรื่องนี้ "วิชา" ในฐานะ กรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า ความล่าช้าของคดีไม่ได้เกิดจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เพราะการทำงานตั้งแต่ต้นตั้งแต่การสอบพยานใช้เวลานานพอสมควร เมื่อใกล้ครบทุกกระบวนการฝ่ายผู้ถูกร้องก็ไปร้องขอความเป็นธรรมให้มีการเปลี่ยนชุดอนุกรรมการไต่สวน

"ขอให้ไปย้อนดูการทำงานของป.ป.ช.ได้เลย แต่เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมเมื่อผู้ถูกร้องมาร้องขอความเป็นธรรม และมีการไปยื่นเรื่องให้หลายแห่งตรวจสอบทำให้กระบวนการชี้มูลต้องหยุด เพื่อรอผลจากการที่ผู้ร้องไปร้องก่อนทาง ป.ป.ช.ถูกตำหนิจากคนทั้งสองกลุ่มฝ่ายหนึ่งบอกว่าทำคดีล่าช้าฝ่ายถูกร้องก็ว่าป.ป.ช.ไม่ให้ความเป็นธรรม จึงอยากให้มองการทำงานของป.ป.ช.ด้วยความเป็นธรรม" หนึ่งใน กรรมการป.ป.ช. กล่าว

"วิชา" กล่าวว่า ในคดีนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณหญิงสุดารัตน์ การไปร้องเรียนยังที่ต่างๆ เพราะเป็นเรื่องของชื่อเสียงจึงต้องพยายามปกป้องขณะที่การเปลี่ยนตัวคณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.ก็ไม่ใช่เรื่องปกติ และมีการยื่นเรื่องให้ถอดถอนกรรมการป.ป.ช.ในวุฒิสภาถือเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคณะทำงานในคดีนี้ต้องยอมรับว่าเหนื่อย และการทำงานไม่ใช่เป็นไปโดยง่าย

สำหรับ มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ

(หมายเหตุ : จับตาคดีคอมพ์ฉาว'ศึกนักการเมือง-ข้าราชการ' : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์)

ที่มา: http://www.komchadluek.net