ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ นายแพทย์คหบดีเจ้าของกิจการเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน (บ้าน-สำนักงาน) เครื่องสุขภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้าง มีเครือข่ายธุรกิจมูลค่าทุนนับพันล้านบาท ซึ่งมีความใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้นมา มีปรากฏการณ์หลายอย่าง หลายประการที่ได้ส่งผลกระทบต่อการสาธารณสุขในวงกว้าง และมีเค้าลางที่บ่งบอกให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เนื่องด้วยนโยบายที่ถูกกำหนดมาให้นำพาประเทศไปสู่การเป็น Medical Hub ในภูมิภาคนี้ สอดประสานกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ซึ่งคาดหวังกันว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ระบบสุขภาพของไทยกำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพและขยายการครอบคลุมการให้บริการทั้งด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลรายงานพิเศษของสำนักข่าวอิศรา ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางได้ระบุไว้ในรายงานว่า นายประดิษฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเดคคอร์ มาร์ท ซึ่งมีทุนจดทะเบียนหลายร้อยล้านบาท มีเครือข่ายโยงใยกับบริษัทธุรกิจวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งบ้านหลายแห่ง ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าธุรกิจในลักษณะเช่นนี้น่าจะได้รับประโยชน์หรืออานิสงส์จากนโยบาย “มาตรฐานโถส้วมนั่งราบ” ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอขอความเห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙) โดยให้ยกเลิกส้วมแบบนั่งยองและใช้ส้วมแบบนั่งราบหรือแบบชักโครกแทน โดยออกเป็น พระราชกฤษฎีกาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาหรือไม่  และหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจจะเข้าข่ายการเอื้อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องของตนเองในลักษณะ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interest – COI)  หรือเข้าข่าย “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” ได้ในที่สุด

จากข้อมูลที่ติดตามมาอย่างต่อเนื่องในช่วง ครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่ามีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจดังนี้

นโยบาย P4P (Pay for Performance) หรือ ระบบ “การจ่ายตามภาระงาน”  เข้ามาแทนที่ระบบ “เหมาจ่าย” ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม เป็นต้นมา โดยขาดการทำความเข้าใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่เปิดให้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจก่อนการประกาศใช้ นั้น ได้สร้างความอึดอัด ขัดแย้งในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มแพทย์และบุคลากรในชนบท เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการบันทึกแต้มการทำงาน เพิ่มภาระงานให้กับบุคลากร ซึ่งมีมากมายอยู่แล้ว และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

นอกจากนี้นโยบายดังกล่าว นับเป็นปัจจัยการดูดแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขออกจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่เมือง เมืองใหญ่ และ โรงพยาบาลภาคเอกชนในที่สุด เพื่อรองรับนโยบาย Medical Hub ที่เอื้อประโยชน์กับบรรษัททุนข้ามชาติที่มุ่งแสวงหากำไรในภาคสุขภาพ บนความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) รับผิดชอบชะงักงันหรือล้มเหลวลงได้ในระยะเวลาอันใกล้

การปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม น.พ. วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งในข้อหาทำให้องค์การเสียหาย เลินเล่อ และขัดคำสั่ง บริหารงานบกพร่อง ประพฤติผิดอย่างร้ายแรง  ทั้งที่กระบวนการสอบสวนขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม รวบรัด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจง ขัดกับหลักการสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์แฝงเร้นของผู้มีอำนาจสั่งการ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มแพทย์พาณิชย์ นักธุรกิจการเมือง ธุรกิจยาของบรรษัททุนข้ามชาติ ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจยาข้ามชาติอาจเสียประโยชน์จากการที่องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาได้ในราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว

สำหรับบางกรณี องค์การเภสัชกรรมสามารถทำให้ราคายาลดลงถึง ๑๐ เท่า ด้วยเหตุที่องค์การเภสัชกรรมมีบทบาทสำคัญในการผลิตยาราคาถูก คุณภาพมาตรฐานให้กับประชาชน มีการสำรองยาที่จำเป็นในยามฉุกเฉิน การที่ฝ่ายการเมืองใช้อิทธิพลให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม เร่งรีบปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม โดยมิได้อยู่ในระเบียบวาระปรกติ (แต่กลับอยู่ในวาระจร) ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม และเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติในวาระจรอย่างเร่งรีบเช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปรกติเป็นอย่างยิ่ง

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ฝ่ายกุมอำนาจการเมืองได้ “ตั้งธง” ที่จะ “เชือด” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ต่างจากนิทาน “หมาป่ากับลูกแกะ” ครั้นเมื่อ น.พ. วิทิต อรรถเวชกุล แพทย์ดีเด่น ผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งด้านการบริหารและบริการสุขภาพ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นแพทย์ที่มีคุณธรรม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบสุขภาพ ตั้งแต่สมัยที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว สมุทรสาคร จนโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้กลายเป็นโรงพยาบาลต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพ  การปลด น.พ. วิทิต จึงมิอาจมองได้เป็นอื่นว่า ถูกรังแกจากผู้มีอำนาจที่มีประโยชน์แฝงเร้น ทั้ง ๆ ที่องค์การเภสัชกรรมในยุคสมัยของ น.พ. วิทิต อรรถเวชกุล จะสามารถสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมากมาย จนผลประกอบการขององค์การเภสัชกรรมอาจไปกระทบต่อผลกำไรของบรรษัทยาข้ามชาติ นับแต่ครั้งรัฐบาลได้ประกาศใช้ “มาตรการบังคับใช้สิทธิสิทธิบัตรยา” หรือ CL (Compulsary Licencing) เมื่อปี ๒๕๕๐ ในช่วงที่ น.พ. วิทิต อรรถเวชกุล เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมพอดี

กลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์เหล่านั้นจึงได้ร่วมกับนักธุรกิจการเมืองบางส่วนบงการให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้อำนวยการ และเข้าครอบงำองค์การเภสัชกรรม

หลังการปลด นพ. วิทิต อรรถเวชกุล ในเบื้องต้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยมีประวัติด่างพร้อยจากกรณีการทุจริตยามูลค่ากว่า ๑,๔๐๐ ล้านบาทเมื่อปี ๒๕๔๐ นอกจากนี้แล้วสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม และกลุ่มผู้ป่วยก็มีความกังวลว่าจะมีแปรรูปรัฐวิสาหกิจ “องค์การเภสัชกรรม” และทำลายระบบยา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำลายธรรมาภิบาลขององค์กร และในที่สุดผลประโยชน์ก็จะตกไปอยู่ในมือนักธุรกิจการเมือง และทุนข้ามชาติ แต่ผู้ป่วยและประชาชนส่วนใหญ่กลับจะได้รับผลกระทบ และเผชิญปัญหาเข้าไม่ถึงยาที่มีคุณภาพมาตรฐานดังที่เคยได้อย่างมาก

 กรณีเงิน ๗๕ ล้านบาท ขององค์การเภสัชกรรม ... เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข รู้สึกเคืองที่องค์การเภสัชกรรมยังไม่ยอมโอนเงินส่วนลด (จากการสั่งซื้อยาของ สปสช ที่ได้จากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมโครงการพัฒนาบุคลากรและองค์กร) จำนวน ๗๕ ล้านบาทให้กับกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ซึ่งโดยปรกติลูกค้าขององค์การเภสัชกรรม จะต้องทำโครงการเสนอต่อองค์การเภสัชกรรมเพื่อรับการสนับสนุนจากงบประมาณส่วนลดนี้  แต่กลับไม่มีความชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องการเงินส่วนนี้ไปทำโครงการใด เพื่อใคร ทั้ง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ใช่ลูกค้าที่ซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม โดยตรงแต่อย่างใด นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การปลด น.พ. วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ เนื่องจากขัดขวางทางผลประโยชน์ของผู้มี

การแทรกแซงและครอบงำ สปสช. โดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่ใช้อำนาจในการแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการ และรองเลขาธิการ ที่สามารถสนองประโยชน์ต่อกลุ่มตน แทนที่จะคัดสรรผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีบทบาทในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพให้คืบหน้า และประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงให้ดำรงตำแหน่ง ประเด็นที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้าที่ น.พ. ประดิษฐ สินธวณรงค์ จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี เขาได้รับการเลือกสรรให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งที่ไม่เคยมีบทบาทเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริม สนับสนุน หรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยแต่อย่างใด ถือได้ว่าเป็นจังหวะก้าวแรกที่เขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของ สปสช. ซึ่งปัจจุบันมีงบประมาณสนับสนุนระบบบริการสุขภาพกว่าแสนล้านบาท โดยได้งบประมาณรายหัวละ ๒,๘๕๕ บาท เมื่อเทียบกับงบประมาณรายหัวละ ๑,๒๐๒  บาท เมื่อแรกเริ่มในปี ๒๕๔๕

เป็นเหตุให้กลุ่มผลประโยชน์ นักธุรกิจการเมือง และข้าราชการฉ้อฉล เกิดความหิวกระหายในทรัพยากรและงบประมาณก้อนโตนี้ จึงพยายามแทรกแซงและ “ล้วงลึก” ทุกวิถีทางในการแสวงประโยชน์เพื่อกลุ่มตน ผู้บริหารบางรายเป็นอดีตนักการเมืองพรรคดัง ขณะที่บางรายถูกกลุ่มธุรกิจการเมืองบงการจนเสียศูนย์ สถานการณ์ปัญหาเช่นนี้บ่งบอกถึงความระส่ำระสาย และใกล้ถึงจุดที่ สปสช ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนอิสระ ตามพระราชบัญญัติฯ จะล้มลง และกลับไปสู่เส้นทางการครอบงำของกลไกระบบราชการของกระทรวงสาธารณสุข และทุนธุรกิจการเมือง

ประเด็นที่น่าจับตามอง เป็นอย่างยิ่งในขณะนี้คือ กระแสการกวาดล้างบุคลากรและผู้บริหารจากสาย “แพทย์ชนบท” และการปูทางไปสู่ตำแหน่งสำคัญให้กับ “รองเลขาธิการ” คนใดคนหนึ่งที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง และหนุนเสริมจากฝ่ายการเมืองให้เตรียมก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “เลขาธิการ สปสช.” ในระยะเวลาอันใกล้นี้  เมื่อเลขาธิการคนปัจจุบัน “เสียศูนย์” จนหมดความชอบธรรม และหมดความสำคัญลงทั้งในสายตาเจ้าหน้าที่ พนักงานประจำ และในสายตาของฝ่ายการเมือง  เท่าที่ทราบ “แอก” ที่ใช้กับเลขาธิการคนปัจจุบัน ก็คือมาตรการการประเมินการทำงานทุก ๖ เดือน และต่อสัญญาจ้างเป็นรายปี เพื่อให้ตอบสนองต่อฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับการได้ทำหน้าที่เลขาธิการต่อไป  แต่แน่นอนที่สุด เมื่อถึงจุดนั้น ก็จะถูกสลัดและขจัดออกนอกวงโคจรอย่างไม่ใยดี เสียศักดิ์ศรีของผู้นำในกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพ (ที่ น.พ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เคยวางใจ) อย่างสิ้นเชิง

ข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่า มีการเจรจาลับระหว่างผู้มีอำนาจกับกับผู้บริหารองค์กรในสายงานด้านสุขภาพแห่งหนึ่ง เพื่อต่อรองขอส่วนแบ่ง ๖๐ : ๔๐ แม้กระแสข่าวเช่นนี้ก็ฟังดูคุ้น ๆ เช่นเดียวกับในอีกหลายกระทรวงด้วย ถือเป็นสิ่งที่น่าละอาย และน่ารังเกียจหากเป็นเรื่องจริง  ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคประชาชนคงจะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังและเข้มข้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับปัญหาการทุจริตยามูลค่าหลายพันล้านบาทเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปฏิบัติการทางสังคม และการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบธรรมาภิบาลและคุณธรรมในการบริหารกิจการที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย  ประชาชนผู้รักความเป็นธรรมจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ  จับตาดู ส่งเสียงดัง และดำเนินการต่าง ๆ เพื่อมิให้เห็บเหา หรือกาฝากการเมืองเหล่านี้เข้ามาดูดกลืนทรัพยากรอันมีค่าของสังคมส่วนรวมเช่นนี้ได้อีกต่อไป

ข่าวกรณีการสั่งการให้ใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมจำนวน ๔ พันล้านในการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข การสั่งการให้องค์การเภสัชกรรมแทรกแซงการซื้อยาโรคหัวใจจำนวน ๒,๐๐๐ ล้านบาท เป็นประเด็นที่สังคมต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ประชาชนหวังที่จะเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความรู้ ความเข้าใจในปัญหาสาธารณสุขอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเจตจำนงอันแน่วแน่ในการสร้างเสริมระบบหลักประกันสุขภาพ มีประสบการณ์ มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีภาวะผู้นำ และสามารถเอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมโดยรวม ใจกว้างและพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการสร้างระบบบริการสุขภาพ สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  อย่างไรก็ดีผู้มีคำนำหน้าว่า “นายแพทย์” ก็มิได้หมายความว่าเป็นแพทย์ที่เข้าใจเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสมอไป

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาองค์ประกอบอย่างถ้วนทั่วแล้ว จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นายประดิษฐ สินธวณรงค์ น่าจะขาดคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตจำนงในการพัฒนาระบบสุขภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม ขาดประสบการณ์และความเข้าใจในความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในเขตชนบท ซ้ำร้ายยังไม่ฟังเหตุผล มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และระส่ำระสายในระบบหลักประกันสุขภาพ จนอาจพังทลายในที่สุด และนั่นอาจเป็นการตอบสนองต่อความต้องการ และความมั่งคั่งของเขาและพวกพ้องเพียงหยิบมือเดียว กล่าวโดยสรุปแล้วนายประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นปัญหาหนึ่งที่จะทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย จึงต้องขบคิดให้จงหนัก หากจะดึงดันให้นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป นั่นอาจหมายถึงความสุ่มเสี่ยงที่ระบบหลักประกันสุขภาพที่พรรคเคยหาเสียงนโยบาย ๓๐ บาทมาอย่างต่อเนื่องว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงนั้น จะต้องพังทลายลงในพริบตา แล้วพรรคเพื่อไทยจะตอบสังคมอย่างไรต่อโครงการ ๓๐ บาท คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า พรรคไทยรักไทยสร้าง ... (นโยบาย ๓๐ บาท)... แต่พรรคเพื่อไทยทำลาย ... ระบบสุขภาพถ้วนหน้า ทำลายความหวังของประชาชนที่จะอยู่ดีกินดี มีสุขภาพที่ดี … ทำไม ?

ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกคน จึงต้องช่วยกันรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานอันชอบธรรมของตนและสังคมโดยรวม ด้วยการร่วมกันแสดงออกอย่างไม่ต้องรีรอ เพื่อมิให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกทำลาย  ประชาชนต้องร่วมกันขจัดกาฝากที่คอยสูบเลือดสูบเนื้อจากน้ำพักน้ำแรงที่ประชาชนได้ร่วมกันเสียภาษีให้กับรัฐ และเพื่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง คุณภาพชีวิตของประชาชน อันถือเป็นทรัพยากรอันล้ำค่ายิ่งของสังคม

ร่วมกันสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ

ร่วมต่อต้านความฉ้อฉลในวงการสาธารณสุข 

เร่งสร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล

พิทักษ์ศักดิ์ศรีให้คนดี ที่ได้ทำงานเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพของประชาชน

*กลุ่มเพื่อนมหิดลเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาตั้งแต่ยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 ที่รวมกลุ่มต่อเนื่องมาแต่อดีต มีการจัดทำหนังสือปูมประวัติศาสตร์นักศึกษามหิดลเพื่อประชาธิปไตยออกมา 3 เล่ม จัดงานสังสรรค์ชาวกิจกรรมมาหลายครั้งตั้งแต่สมัยนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์  เป็นประธาน จนนายแพทย์สงวนเสียชีวิตไป ก็ยังมีกิจกรรมอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็พยายามเกาะกลุ่มกัน ในครั้งนี้เนื่องจากการเกิดวิกฤตกับระบบสาธารณสุขไทยจึงถือโอกาสสำคัญที่ต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้องชอบธรรม

ที่มา : http://www.isranews.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง