ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 4 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทน 13 สมาคมและชมรมวิชาชีพในวงการสาธารณสุข นำโดยนพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงาน (พี4พี) โดยหนุนทั้ง 4 ประเด็นหลักได้แก่ การแก้ไขข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในการบริหารกองทุนสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเร่งแก้ปัญหาสถานะการเงินการคลัง โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายของสปสช.ให้มีความเหมาะสม ไม่ได้เป็นการยืดงบประมาณจากสปสช., รักษาโรคต่างๆ เป็นทีมบริการ ซึ่งรัฐบาลนี้จัดให้มีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยหลายระดับ แบบบูรณาการระบบบริการสุขภาพที่เป็นรูปธรรม ทำให้สถานพยาบาลทุกระดับในเครือข่ายบริการทั้ง 12 เขตสามารถกำหนดแผนงาน แผนกำลังคน แผนทรัพยากรได้อย่างชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน ทำให้การดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร, การเร่งจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติมกว่า 2 หมื่นอัตราในพื้นที่ขาดแคลนและชนบท เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนได้ภายใน 3-5 ปี, การพัฒนาระบบการตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงาน แก้ไขความขาดแคลนด้านการแพทย์ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพเพื่อปลดภาระการเงิน การคลังของร.พ.ต่างๆ

นายสุรนันทน์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลยืนยันนโยบายที่ทำให้ประชาชนต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ส่วนเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามค่าภาระงาน (พี 4 พี) ก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ต้องมีการหารือกันกับฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยทั้งหมดอยู่ที่การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะดำเนินการต่อให้ดีที่สุด

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า มีการเตรียมประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงกับชมรมแพทย์ชนบทในวันที่ 6 มิ.ย. นี้โดยการประชุมนั้นเป็นการให้มานั่งรับฟังข้อคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อร่วมกันดูว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในเรื่องพี4พีที่มีจุดประสงค์เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพเพื่อประชาชนนั้นมีจุดอ่อนข้อบกพร่องตรงไหน อย่างไร เพื่อกระทรวงจะได้นำไปใช้ในทางปฏิบัติ

วันเดียวกัน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มีการประชุมหารือย่อยเพื่อสรุปประเด็นที่จะทำความเข้าใจกันระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบท รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ซึ่งจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีตัวแทนจากกลุ่มแพทย์ชนบท นำโดยนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และนายสุรนันทน์

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวก่อนการประชุมว่า ข้อเท็จจริงของการหารือครั้งนี้ คือ ต้องการบอกกล่าวไปถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาในระบบสาธารณสุข ณ ปัจจุบัน เนื่องจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าตอบแทนโดยอิงผลการปฏิบัติงาน (พี4พี) ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่คัดค้านอีกต่อไป แต่ขอให้นายกฯลงมาดูปัญหาด้วยตัวเองเกี่ยวกับการขาดธรรมาภิบาลในการดำรงตำแหน่ง หน้าที่ของนพ.ประดิษฐคือต้องดูแลเอาใจใส่ประชาชนในแง่ของสุขภาพ แต่ที่ผ่านมากลับเน้นเรื่องการร่วมจ่าย รื้อฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค รวมไปถึงการรวบอำนาจสปสช. ปลดนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า ข้อเสนอเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพทั้ง 16 ข้อรัฐบาลจะต้องรับไปทั้งหมด ไม่มีการพิจารณาแยกส่วน แต่หากรัฐบาลรับข้อเสนอทุกข้อยกเว้นเรื่องปลดนพ.ประดิษฐจะรับหรือไม่ต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ หากการหารือในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ไม่ประสบผลสำเร็จ ในวันที่ 20 มิ.ย. จะมีการชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 5 มิถุนายน 2556