ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังผู้แทนรัฐบาลเจรจากับผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท บุคลากรในวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข และเครือข่ายผู้ป่วย จนได้ข้อยุติจะไม่ชุมนุมที่หน้าบ้านนายกฯในวันที่ 6 มิถุนายน โดยเปลี่ยนเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการร่วม 3 ฝ่ายแทนในวันที่ 4 มิถุนายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

ก่อนประชุม นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท แถลงว่า การหารือครั้งนี้ต้องการบอกกล่าวไปถึงนายกฯ เกี่ยวกับปัญหาในระบบสาธารณสุข ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้บริหาร ขาดธรรมาภิบาล ไม่ดูแลเอาใจใส่ประชาชนในแง่ของสุขภาพ และการได้รับบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม แต่กลับเน้นเรื่องการร่วมจ่าย รื้อฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค รวมไปถึงการรวบอำนาจสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ให้มีความเป็นอิสระ นอกจากนี้ ยังมีแทรกแซงระบบการเข้าถึงยา โดยเข้าไปทำลายชื่อเสียง ภาพลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) จนมีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. ล่าสุดมีการบรรจุพิจารณาข้อเสนองบประมาณการออกแบบ สปสช.แห่งใหม่ โดยตั้งงบออกแบบ 3.4 ล้านบาท มีแนวโน้มต้องการให้ย้ายสำนักงาน สปสช.จากศูนย์ราชการไปอยู่ภายในพื้นที่ สธ.

"หากสุดท้ายการหารือไม่เป็นผล นายกฯยังไม่เห็นใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และ นพ.ประดิษฐยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.ต่อไป ขอยืนยันที่จะรวมตัวกันประท้วงตามสิทธิเสรีภาพที่บ้าน นายกฯในวันที่ 20 มิถุนายนนี้" ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว และว่า ขณะนี้เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพมีข้อเสนอ 16 ข้อ และรัฐบาลจะต้องรับไปทั้งหมด อาทิ ยกเลิกการบังคับทำพีฟอร์พีในโรงพยาบาลชุมชน, ยุติการแทรกแซง สปสช., คืนความเป็นธรรมและเยียวยา นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการ อภ. และให้นายกฯปลด นพ.ประดิษฐ พ้นจากตำแหน่งทันที

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 มิถุนายน 2556