ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความคืบหน้าการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข ให้แต่ละกรมเร่งทบทวนภารกิจให้เป็นไปตามบทบาทของกรม งานไม่ซ้ำซ้อนกัน ลดความสิ้นเปลืองทรัพยากร สนองนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพ บริการประชาชน และสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจประเทศ ชี้ไม่มีการยุบรวมกรม แต่ปรับปรุงบทบาทหน่วยงานภายในกรมที่มีบทบาทซ้ำซ้อนกัน    

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า ประเด็นหลักในวันนี้ได้ให้ทุกกรมมาพูดคุยเรื่องบทบาทภารหน้าที่ของกรม ไม่ให้มีภาระหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อปรับโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุข ให้สนองต่อนโยบายรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพ 2.ดูแลประชาชนหรือผู้บริโภค และ3.สนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละกรม เช่นกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสบส. ดูแลมาตรฐานของสถานพยาบาลต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ดูแลเรื่องการจดทะเบียนยา อาหาร ให้มีความราบรื่น

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงฯ ครั้งนี้ ได้ให้กรมต่างๆ ทบทวนบทบาทภารกิจให้ตรงตามบทบาทของหน่วยงาน ไม่ได้เป็นการยุบรวมกรมเข้าด้วยกัน แต่จะปรับปรุงหน่วยงานภายในของแต่ละกรมที่มีบทบาทหน้าที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนการใช้ทรัพยากรระหว่างกรม เช่น สำนักประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีทั้งกรมการแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะต้องดูว่างานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และควรอยู่ในสังกัดใดจึงจะตรงกับบทบาทหน้าที่ของกรม หรือกรณีของกองแบบแผนซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติ แต่อยู่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการ ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ เป็นต้น

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า กรณีการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ เดิมกรมควบคุมโรคจะดูแลเรื่องการป้องกันควบคุมโรคทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ ภารกิจค่อนข้างมาก เพราะมีโรคติดต่อหลายโรคที่เป็นปัญหาของประเทศ เช่นเอดส์ โรคอุบัติใหม่ต่างๆ ส่วนโรคไม่ติดต่อจะทำหน้าที่ด้านการเฝ้าระวัง รายงานจำนวนผู้ป่วย ส่วนกรมอนามัยมีหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทำให้การทำงานมีความซ้ำซ้อนกัน ได้มอบให้อธิบดีทั้ง 2 กรมหารือแนวทางร่วมกันในการจัดภารกิจของกรมให้ชัดเจน ไม่ใช้ทรัพยากรซ้ำซ้อนกัน หรือหน่วยงานศูนย์อนามัยแม่และเด็กของกรมอนามัย หากไม่ได้ทำงานด้านการวิจัยหรือสนับสนุนการควบคุมกำกับ ก็ควรไปอยู่ในหน่วยบริการ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมวิชาการต่างๆ มีหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐานการรักษา มาตรฐานการบริการต่างๆให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีสำนักบริหารการสาธารณสุข หรือ สบรส. เป็นผู้ดูแลหน่วยปฏิบัติคือโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่อยู่ใน 12 เขตบริการสุขภาพ ทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน โดยอาจจะต้องเพิ่มให้มีทีมงาน 1 ชุดมากรองงานต่าง ๆจากกรมวิชาการก่อนลงสู่ภาคปฏิบัติ  เพื่อลดการซ้ำซ้อน และไม่ให้เกิดปัญหาแก่ผู้ปฏิบัติในภูมิภาค     มิเช่นนั้นจะมีการขออัตรากำลังเพิ่มขึ้น 

สำหรับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากการรับบริการสุขภาพ จากเดิมมีกฎหมายให้ดูแลเฉพาะสถานพยาบาลของเอกชน แต่ในอนาคตจะต้องขยายบทบาทหน้าที่ให้ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลภาครัฐอื่นๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วย เช่น รพ.สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนผู้รับบริการ ในส่วนของสถานพยาบาลเอกชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดูแลมาตรฐานสถานพยาบาล และระบบบริการ หากมีปัญหาจะมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยเพื่อบรรเทาปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาดูแต่เรื่องโครงสร้าง ต่อไปจะต้องดูแลถึงมาตรฐานการรักษา และการบริการ รวมถึงผลการรักษาด้วย โดยใช้มาตรฐานการรักษาโรคต่างๆ จากกรมการแพทย์ นำไปใช้บังคับให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ และเน้นการทำงานประสานร่วมกันของ 3 กรมเกี่ยวข้อง คือ ให้เลขาอย. ดูเรื่องของสารที่นำมาใช้ในคลินิกเสริมความงาม หรืออาหารเสริมที่ขายตามร้านค้า กรมการแพทย์เข้าไปดูแลเรื่องความรู้มาตรฐาน วิธีการในการรักษา และกรมสบส. ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิบัติที่บกพร่องหรือเอาเปรียบประชาชน 

ในส่วนองค์การเภสัชกรรม ได้เน้นย้ำบทบาทการดูแลความมั่นคงด้านยาของประเทศคือ 1.จะต้องมีการสต็อกยาพอสมควรของประเทศ 2.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ มีการรวมศูนย์ จัดทำคลังยา ทำให้อำนาจต่อรองในการซื้อยาดีขึ้น 3.ลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ เช่นนำยาชื่อสามัญมาใช้ทดแทนยาต้นแบบให้มากขึ้น

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่ออีกว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ อยากให้เสร็จสิ้นใน 1 ตุลาคม 2557 แต่คาดว่าจะใช้เวลาในการปรับโครงสร้างครั้งนี้อย่างน้อย 2-3 ปี เพราะบางเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบ และทำความเข้าใจแก่บุคลากรด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่เช่นนั้นข้าราชการอาจตกใจ