ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งใน "ศึกหนัก" ของรัฐบาลปัจจุบัน ก็คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์ชนบทและเครือข่ายที่เริ่มต้นจากการต่อต้านแนวคิดการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารของกระทรวงสาธารณสุข โดยยกเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงานและคุณภาพงาน (P4P) มาเป็นตัวตั้ง

ก่อนจะขยายวงไปถึงการขับไล่รัฐมนตรีว่าการ และการประกาศจะไปชุมนุมประท้วงหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิ.ย.

จนกระทั่งต้องมีการส่ง "คนกลาง" อย่าง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.สำนักนายกฯ และ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ มานั่งพูดคุย  และได้ข้อสรุปว่าจะมีการเจรจาหารือกันแทนการชุมนุมประท้วง

ตัวแทนของกลุ่มแพทย์ชนบทกว่า 30 คน พบหารือกับ นายนิวัฒน์ธำรง นายสุรนันทน์ และ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เมื่อค่ำวันที่ 4 มิ.ย. ที่โรงแรมกลางเมืองแห่งหนึ่ง

บรรยากาศการเจรจามีทั้งประเด็นที่สามารถทำความเข้าใจกันได้

และประเด็นที่ยังติดค้าง ไม่สามารถเจรจากันรู้เรื่องอย่าง P4P

แล้วอะไรคือ P4P ?

นพ.ประดิษฐ เปิดเผยผ่าน "อินไซด์ไทยกอฟ (www.insidethaigov.com)" ถึงหนึ่งในประเด็นขัดแย้งกับเครือข่ายกลุ่มแพทย์ชนบทเอาไว้ มีเนื้อหาโดยสรุปบางส่วนดังนี้

P4P คือ Pay for Performance ชื่อภาษาไทยจริงๆ ก็คือการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงานและคุณภาพงาน อย่างมีระบบและมีเหตุผล

ที่ต้องมี P4P ก็เพราะรัฐบาลเห็นปัญหาระยะยาวเรื่องความมั่นคงทางการเงินของระบบประกันสุขภาพในอนาคต

10 ปีที่ผ่านมางบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 เท่าตัว คิดเป็นร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งใช้งบประมาณถึงร้อยละ 18-19 มักจะประสบปัญหาด้านการเงิน

ถ้าปล่อยให้งบประมาณด้านสุขภาพและงบประมาณหลายๆ อย่างโตไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะไปกินงบลงทุน ซึ่งเป็นเงินที่จะมาสร้างรายได้เข้าประเทศ

ในด้านกำลังพล แบบเดิมคือแต่ละโรงพยาบาลใช้กำลังพลแยกกัน คนก็จะไม่เพียงพอและต้องขอเพิ่มตลอด

P4P คือจะทำอย่างไรให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปเพิ่มกำลังพล ที่ใช้งบประมาณเกือบร้อยละ 40 ของงบทั้งหมด 

และเงินที่จ่ายให้แพทย์เพิ่มขึ้นมาเป็นแบบเหมาจ่าย ยังไม่ทั่วถึงกลุ่มบุคลากรอื่นๆ เช่น พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ด้วย

ทำให้รายได้ยังเหลื่อมล้ำ

คุณภาพงานก็จะชัดเจนขึ้น

เพราะเมื่อก่อนเราเหมาจ่ายโดยไม่มี

วัตถุประสงค์ ก็มาทำใหม่ว่า คุณภาพการทำงานนั้นไม่ได้วัดเฉพาะที่การรักษาคนไข้ แต่ลงไปถึงการส่งเสริมป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพ งานบริหารจัดการในโรงพยาบาล

หากบริหารโรงพยาบาลดีๆ มีต้นทุนค่ายาถูกลง ก็เป็นผลงานที่นำมาประเมินได้

และไม่ต้องห่วงว่าบุคลากรทางการแพทย์จะรายได้ลดลง เพราะถึงจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรก็ตาม

ก็มีมติ ครม.ชัดเจนแล้วว่าจะต้องชดเชย

หัวใจของ P4P คือการวัดผล หัวหน้าทีมจะได้รู้ว่าผลงานของลูกทีมเป็นอย่างไร

ในภาพรวมเมื่อประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ ดีขึ้น เช่น ซื้อยาถูกลง

เงินที่ได้ก็เอากลับมาบำรุงโรงพยาบาล

เรื่อง P4P ในบางพื้นที่นั้นได้มีการทำกันมาเกือบสิบปีแล้ว อย่างโรงพยาบาลพาน เชียงราย และโรงพยาบาลมะการักษ์ กาญจนบุรี

ที่ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน หนองคายและกาฬสินธุ์ ทดลองทำกันมาเกือบหมด ทั้งโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลใหญ่ ไม่ใช่ว่าเป็นความคิดใหม่ ที่นึกจะทำแล้วก็ทำ

ทั้งหมดมีผลออกมาที่ดี ตอนแรกมีปัญหาและอุปสรรคเพราะไม่เคยชิน แต่เมื่อทำผ่านปีแรกไปแล้วทุกคนจะบอกว่าดีทั้งหมด สามารถรั้งบุคลากรให้อยู่ในระบบได้ ลดความเหลื่อมล้ำได้ สร้างความยุติธรรมระหว่างสายวิชาชีพ

วัดผลออกมาแล้วจะเห็นเลยว่าผลงานของโรงพยาบาลดีขึ้นในทุกรูปแบบ

ขณะที่มีปริมาณคนไข้เพิ่มขึ้น

จับตาการเจรจาเรื่อง P4P รอบใหม่ในวันที่ 6 มิ.ย.

ก็จะจับอุณหภูมิได้ว่า จะมี "ม็อบหมอ"ไปหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 20 มิ.ย.หรือไม่

 

ที่มา : หน้า 3,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556