ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ประดิษฐ"ยอมปลดล็อค!ไม่บังคับโรงพยาบาลชุมชนใช้ P4P พร้อมตั้งกรรมการร่วมแพทย์ชนบทพิจารณาเกณฑ์ใหม่

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ภายหลังการหารือ ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ข้อสรุปว่า จะให้โรงพยาบาลชุมชนที่ไม่พร้อมจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ตามความสมัครใจ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 9 ก่อนหน้านี้ โดยโรงพยาบาลที่ไม่พร้อมทำ P4P สธ.จะพิจารณาเกณฑ์ในการเยียวยาย้อนหลังไปตั้งแต่ 1 เม.ย.

ทั้ง สธ. และ แพทย์ชนบท เห็นตรงกันว่าระบบค่าตอบแทน จะเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และต้องมีการเสริมสร้างรายได้ไม่ให้มีความแตกต่าง รัฐ และเอกชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยากลำบาก จึงต้องมีเงินก้อนนี้ ส่วนที่ไม่ให้มีความแตกต่างกันมากในวิชาชีพ

นอกจากนี้ ยังเห็นตรงกันว่า การทำ P4P ต้องมีการออกกติกากลาง ไม่ให้มีความแตกต่าง โดยแต่ละพื้นที่ต้องทำเอง ถ้าเป็นยาสามัญ เป็นไปไม่ได้ เช่น กติกาทางการเมือง ต้องไม่ให้โรงพยาบาลติดลบ อย่างไรก็ตาม สธ.ยังเห็นว่า P4P เป็นประโยชน์ และจะต้องทำภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ระหว่าง สธ. โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน โดยคณะกรรมการ จะต้องมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสีย และจะไม่ใช้เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจ โดยหวังว่า 4 เดือนข้างหน้าจะเป็นไปด้วยเหตุและผล และจะปรับปรุงแก้ไขกติกาให้สอดคล้องความเป็นจริง ความเป็นไปได้เท่านั้น ยืนยันว่า จะให้การเยียวยาเฉพาะโรงพยาบาลที่ไม่พร้อมเท่านั้น ไม่นับรวมโรงพยาบาลที่ต่อต้านระบบ

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ถือว่าแพทย์ชนบท และเครือข่ายฯ ประสบความสำเร็จในเวทีเจรจาวันนี้ เนื่องจากรมว.สธ. ยอมชะลอการใช้ P4P ออกไป และให้เป็นไปตามความสมัครใจมากกว่าที่จะบังคับ ขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดโอกาสให้แพทย์ชนบทเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาเกณฑ์อีกครั้ง

ส่วนปัญหาเรื่องระบบร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ทางรมว.สธ. ได้ปฏิเสธแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับ การตั้งคณะกรรมการพิจารณาปัญหาในอภ. รมว.สธ. ได้ยอมับให้มีตัวแทนของภาคประชาชน ขึ้นมาสะสางปัญหาร่วมกัน จึงถือว่าข้อสรุปในเวทีวันนี้ค่อนข้างน่าพอใจ

ทั้งนี้ จะใช้มาตรการเยียวยาขึ้นมาใหม่ โดยใช้ เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรูปแบบเดิมเป็นฐาน โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบการเงินการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะร่างมาตรการเยียวยาให้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนปัญหา P4P ได้ข้อสรุปว่า หากโรงพยาบาลใดจะเข้าร่วม ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ต่างจากการบังคับให้ทำก่อนหน้านี้ ส่วนวิชาชีพหรือโรงพยาบาลใดที่ต้องการจะทำ ก็สามารถดำเนินการได้ โดยสธ.ไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้ทำ

ขณะที่ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นพ.ประดิษฐ จะเสนอผลการประชุมร่วมกันในวันนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มิ.ย. นี้ทันที ขณะเดียวกัน รมว.สธ. จะมีการตั้งคณะกรรมการในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อลดข้อขัดแย้ง

ที่มา: http://www.posttoday.com