ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'ปุ้ม'นั่งหัวโต๊ะถกพีฟอร์พีลงตัว ชง'ปู-ครม.'รับทราบเกณฑ์เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบย้อนหลัง 1 เม.ย. มติร่วม 3 ฝ่าย ตั้งคณะทำงาน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหาข้อสรุป การสร้างความเป็นธรรมตามหนังสือพิมพ์มติชนรายวันนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง สธ. นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายอีกประมาณ 150 คน ร่วมประชุม

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มประชุม นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ขอให้ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (ประธานบอร์ด อภ.) ออกจากวงเจรจาเนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ตัวแทนของ 3 ฝ่าย จากนั้น นาย สุรนันทน์ได้ให้ฝ่ายเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรม ชี้แจงรายละเอียดใน 16 ข้อเสนอ โดยเฉพาะประเด็นค่าตอบแทนที่อิงผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี ขณะเดียวกัน นพ.ประดิษฐ และ นพ.เกรียงศักดิ์ ได้แยกออกไปหารือกันนอกโต๊ะกลม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากใช้เวลาในการประชุมราว 3 ชั่วโมง แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ นายสุรนันทน์จึงสั่งพักการประชุม เพื่อรับประทานอาหารกลางวันก่อน นายสุรนันทน์สั่งให้เจ้าหน้าที่จัดโต๊ะรับประทานอาหารโดยมีนายสุรนันทน์ นพ.ประดิษฐ นพ.ณรงค์ และ นพ.เกรียงศักดิ์ ร่วมโต๊ะเดียวกัน พร้อมทั้งพูดคุยหารือในระหว่างรับประทานอาหารด้วย โดยใช้เวลาในการหารือราว 1 ชม. โดยบรรยากาศเริ่มผ่อนคลายลง

จากนั้นเวลา 14.30 น. นายสุรนันทน์กล่าวสรุปว่า คิดว่าหากช่วยกันทำงานให้ระบบก้าวหน้าไปได้ก็เป็นสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องการเห็น แต่ภายใต้ระบบที่ก้าวหน้าและการก็เป็นสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องการเห็น แต่ภายใต้ระบบที่ก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างๆ เพราะว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีระยะเวลาผ่านมา 12 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นระบบที่ประสบความสำเร็จ อย่างที่หลายท่านพูดว่าเป็นระบบที่หลายๆ คนที่แพทย์ชนบทมาร่วมหารือในครั้งนี้ร่วมบุกเบิกกันมา และขณะนั้นตนก็เป็น ส.ส.และมีส่วนร่วมในครั้งนั้น ถือว่าเป็นความภูมิใจที่สามารถมาถึงตรงนี้ได้

นายสุรนันทน์กล่าวว่า นพ.ประดิษฐได้พูดไว้บนโต๊ะระหว่างรับประทานอาหารถือว่าเป็นหลักการที่เห็นตรงกัน และสิ่งที่เป็นข้อสังเกต เป็นรายละเอียดที่ต้องถกเถียงกันภายในกระทรวง ข้อสังเกตที่แตกต่าง นพ.ประดิษฐ รับไปดำเนินการต่อ โดยตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการ ตนจะไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลย โดย นพ.ประดิษฐจะต้องรายงานนายกรัฐมนตรีภายในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้และจะต้องมีกรรมการที่ตั้งแล้ว และมีชื่อที่เป็นตัวแทนจากแพทย์ชุมชนและกลุ่มโรงพยาบาลอื่นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาหารือกัน และมีการกำหนดระยะเวลา

"นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ปล่อยปละละเลยไปนาน เพราะกระบวนการ พีฟอร์พี เป็นกระบวนการที่เริ่มเดินไปแล้ว เพื่อความสบายใจจึงขอให้นพ.ประดิษฐรายงานผลการหารือในวันนี้ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบในชั้นหนึ่งก่อนว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร เพื่อจะได้สบายใจว่า นายกรัฐมนตรีรับรู้และ ครม.ได้รับทราบ เพื่อจะสามารถเดินหน้าต่อไป ข้อสังเกตต่างๆ จะไม่ละเลย และนายกรัฐมนตรีก็จะรับรู้ข้อสังเกตด้วย จากการสรุปด้านเอกสารในวันนี้และข้อสังเกตในที่ประชุมเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี" นายสุรนันทน์กล่าว

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ในการหารือร่วมทั้ง 3 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า หลักการทำพีฟอร์พีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการของประชาชน มีความจำเป็นจะต้องตรึงบุคลากรไว้ในพื้นที่ชนบท  1 ในมาตรการ คือ เรื่องเงินลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรแต่ละวิชาชีพ  และการทำพีฟอร์พีต้องเหมาะสมกับบริบทการทำงานในแต่ละพื้นที่หรือระดับของหน่วยบริการ จึงต้องมีกติกากลางให้กับหน่วยงาน เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม ส่วนหลักเกณฑ์รายละเอียดปลีกย่อยต้องมาหารือร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการ จึงให้จัดตั้งคณะทำงานมีตัวแทนจากทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุขเข้ามาร่วม ทำหน้าที่ 2 เรื่องหลักคือ 1.ปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่ และ 2.คิดมาตรการชดเชยเยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานพยาบาลที่ทำพีฟอร์พี หรือสถานพยาบาลไม่ได้ทำพีฟอร์พีที่มีสาเหตุจากความไม่พร้อมจากการที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนได้ การเยียวยาชดเชยเป็นไปตามมติ ครม. ที่ระบุให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่จะไม่ครอบคลุมบุคลากรที่ต่อต้านการทำพีฟอร์พี

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า สำหรับกลุ่มแพทย์ชนบทเข้าใจตรงกันว่า การคัดค้านเกิดจากความไม่พร้อมของหน่วยบริการ ไม่ใช่การต่อต้านการทำ พีฟอร์พี โดยการเยียวยาจะย้อนหลังวันที่ 1 เมษายน-1 ตุลาคม 2556 ในการเยียวยาจะเป็นลักษณะของการชดเชยส่วนต่างค่าตอบแทนเมื่อเทียบระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเดิมกับการจ่ายแบบพีฟอร์พี คาดว่าคณะทำงานจะใช้เวลาดำเนินการ 2 เดือน ทั้งนี้ จะนำรายละเอียดของการหารือร่วมกันรายงานต่อ ครม. ในการประชุมสัญจรวันที่ 9-10 มิถุนายน ที่ จ.กำแพงเพชร

"ระหว่างที่คณะทำงานชุดนี้ทำงาน สถานพยาบาลที่มีความพร้อมก็เดินหน้าทำพีฟอร์พีไปตามปกติ ส่วนสถานพยาบาลที่ไม่พร้อมก็ส่งรายละเอียดไปยัง สธ.ว่าไม่พร้อมด้วยเหตุผลใด เพื่อที่ สธ.จะได้เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน หลังจากนั้นเมื่อกฎระเบียบที่กำหนดโดยคณะทำงานชุดนี้แล้วเสร็จ เชื่อว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จะมีการทำ พีฟอร์พีในทุกสถานพยาบาลในสังกัด จะไม่มีข้อข้องใจว่าไม่พร้อมหรือหลักเกณฑ์ไม่เหมาะสมอีก เพราะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละสถานพยาบาลแล้ว" นพ.ประดิษฐกล่าว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า โดยภาพรวมพอใจกับการหารือครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะของคนไทย ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบทเท่านั้น เพราะจะทำให้คนไทยได้รับประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพที่ดี มีแพทย์ทำงานอยู่ในชนบท จากการเจรจาในวันนี้ถือว่าหลักการเป็นที่พอใจ หลังจากนี้จะขอรอดูรายละเอียดที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.เสนอต่อ ครม. หากไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็จะมีการชุมนุมในวันที่ 20 มิถุนายน ที่บ้านนายกรัฐมนตรี แต่หากรัฐบาลมีความจริงใจ ทำตามข้อเรียกร้องในทุกด้านจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ การเคลื่อนไหวใดๆ

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า สำหรับรายชื่อของคณะทำงานจะเสนอตัวแทนจากเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สหภาพแรงงานรัฐวิสากิจ อภ. เครือข่ายผู้ป่วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และชมรมแพทย์ชนบท เพื่อหารือในหลักเกณฑ์การทำงาน และจากการหารือในวันนี้ นพ.ประดิษฐมีความเข้าใจว่า ขณะนี้โรงพยาบาลชุมชนไม่มีความพร้อมในการใช้หลักเกณฑ์การทำ พีฟอร์พีตามที่ สธ.กำหนด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ สธ.ที่จะสร้างกติกาให้โรงพยาบาลทั้งหมดอยากทำพีฟอร์พีแบบสมัครใจ จะเป็นงานต่อจากนี้ที่คณะทำงานจะดำเนินการร่วมกัน

"มาตรการเยียวยาต้องเป็นการใช้ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4 และ ฉบับที่ 6 แพทย์ชนบทจึงจะยอมรับได้ โดยจะต้องจัดทำเป็นหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่อีก 1 ฉบับ เป็น ฉบับที่ 10 เพื่อกำหนดให้ระหว่างการดำเนินงานของคณะทำงานใช้การจ่ายค่าตอบแทนตามฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ปลด นพ. ประดิษฐออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ. ยังยืนยันเหมือนเดิม ขณะนี้ได้มอบเอกสารเหตุผลให้นายสุรนันทน์ส่งให้นายกฯ พิจารณาแล้ว" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนแถลงสรุปผลการประชุม นายสุรนันทน์ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายฯ ได้เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางมารวิชัย ไปประดิษฐานที่โต๊ะกลม พร้อมกล่าวว่า การเรียกร้องให้นายกฯปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการ สธ. เนื่องจาก นพ. ประดิษฐก่อให้เกิดความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในองค์กรจนส่งผลกระทบต่อประชาชน นพ.ประดิษฐไม่มีความสามารถ ขาดประสบการณ์การบริหารงานกิจการภาครัฐ

"นพ.ประดิษฐบริหารคล้ายบริษัทส่วนตัว สั่งการตามอำเภอใจ เอาแต่ใจ เช่น บังคับโรงพยาบาลชุมชนทำพีฟอร์พี เพราะคิดว่าข้าราชการเหมือนพนักงานบริษัท จะบังคับให้ทำอะไรก็ได้ จนขณะนี้เกิดแรงต่อต้านอย่างกว้างขวาง การใช้พีฟอร์พีเพื่อการนับแต้ม นับกิจกรรม ไม่สามารถวัดประสิทธิภาพในการทำงานได้ และไม่มีการเตรียมการศึกษาผลดีผลเสีย แม้มีแรงต้านก็ยังเดินหน้าต่อ" นพ.อารักษ์กล่าว และว่า หลักการพีฟอร์พีที่ถูกต้อง ต้องสะท้อนผลลัพธ์ ไม่ใช่กิจกรรม และต้องส่งผลแบบได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยได้ประโยชน์ บุคลากรพอใจ องค์กรทั้งระบบได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า แต่ 2 เดือนที่มีการคัดค้านไม่มีใครได้อะไรเลย ส่วนการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.นั้น ถือว่าขาด ธรรมาภิบาล ไม่มีความชัดเจน

จากนั้น นพ.ประดิษฐให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทร้องเรียนว่า เกิดความไม่โปร่งใสในการใช้เงินส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐ (ซีเอส อาร์) ตามระเบียบของ อภ. ที่กำหนดว่าคู่ค้าที่ชำระเงินตรงเวลาภายใน 60 วัน จะได้รับเงินดังกล่าวร้อยละ 5 ชมรมแพทย์ชนบทร้องว่ามีการโอนเงิน 75 ล้านบาท ไปที่ สธ.เพื่อใช้อย่างมิชอบนั้น ยืนยันว่าเงินดังกล่าวยังไม่มีการนำไปใช้ และอยู่ระหว่างการทำแผนเพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างมีประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด แต่หากมีความเคลือบแคลงเรื่องนี้ก็จะทำให้เกิดความโปร่งใส ล่าสุดได้สั่งการให้ปลัด สธ.ยื่นเรื่องดังกล่าวให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริง

ด้านนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากสามารถตกลงได้ว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษารายละเอียดนโยบายพีฟอร์พี เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 1 ตุลาคม และกลุ่มแพทย์ชนบทจะยกเลิกการเดินทางไปชุมนุมประท้วงที่หน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 20 มิถุนายน

นพ.เธียรชัย คฤหโยธิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลพะเยา ร่วมสนับสนุนนโยบายพีฟอร์พีของรัฐมนตรี สธ. เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่คนที่ทำงานอย่างทุ่มเทและเสียสละจริง ไม่ออกมาเรียกร้องเพียงต้องการผลประโยชน์ แต่ผู้ที่ทำงานอย่างทุ่มเทตามภารกิจหน้าที่จะมีเกณฑ์ชี้วัดกิจกรรมหรือผลงานออกมาเป็นตัวเลข โดยจะมีการเก็บตัวเลขทุกกิจกรรม ผู้ที่ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ไม่ทำไม่ได้ ค่าตอบแทนที่ได้รับปรับเพิ่มขึ้นสำหรับคนทำงานจะเป็นเครื่องมือหรือปัจจัย สร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรของโรงพยาบาลที่เป็นคนทำงานอย่างแท้จริง

ผอ.รพ.พะเยากล่าวต่อว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดคุณธรรมในระบบการทำงานของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศได้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยคนที่ทำงานแต่ไม่ได้ออกมาเรียกร้องขออะไรจะมีขวัญและกำลังใจในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่คนทำงานได้รับผลตอบแทน ความดี แม้ว่าบางครั้งเงินที่ได้รับอาจจะไม่มากมายนัก แต่คือสิ่งที่พิสูจน์ถึงผลงานของบุคคลผู้นั้นได้เป็นอย่างดี

"สิ่งที่นโยบายดังกล่าวให้มากกว่านั้น คือ การลดความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทนของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนได้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาค่าตอบแทนของแพทย์และพยาบาลที่ได้รับนั้นแตกต่างกันถึง 10 เท่า แต่เมื่อมีการปรับระบบจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน จะทำให้แพทย์กับพยาบาลได้รับค่าตอบแทนห่างกันประมาณ 4 เท่าตัวเท่านั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดระบบคุณธรรมมากขึ้น" นพ.เธียรชัยกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 มิถุนายน 2556