ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในที่สุดศึกในกระทรวงสาธารณสุขก็จบลงด้วยวิธีการถอย-ถอยของทั้งสองฝ่าย หนึ่ง คือ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) ยอมปล่อยให้ใช้ค่าตอบแทนตามภาระงาน(P4P) ตามความสมัครใจ และสอง คือ แพทย์ชนบทยอมปล่อยให้ นพ.ประดิษฐบริหารงานต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้จะตั้งหมัดไล่นพ.ประดิษฐ เพียงอย่างเดียว และอยู่ในเงื่อนไขของภาคประชาชนทุกข้อว่า จะต้องปลด นพ.ประดิษฐ แต่ในเมื่อนพ.ประดิษฐ ตัดสินใจถอย ในที่สุดทุกคนก็ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะยกเลิกข้อเสนอนี้ด้วย

พระเอกของเหตุการณ์คงหนีไม่พ้น สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่รับบทโซ่คล้องกลางให้สองฝ่ายที่เคยขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดบุกเข้าไปด่ารัฐมนตรีกลางห้องประชุมต่อหน้าข้าราชการจำนวนมาก รวมถึงเดินสายฉีกรูปขับไล่ต่อเนื่องในเวทีแจงP4P ทั่วประเทศ เข้ามานั่งเจรจาได้ในที่สุด

เหตุที่มีเวทีวันนี้ เพราะคนรายรอบนายกรัฐมนตรีอย่าง สุรนันทน์ และบิ๊กแจ๊ด รู้ดีว่าหากปล่อยให้แพทย์ชนบทและเครือข่ายใส่เครื่องแบบแพทย์ไปตั้งม็อบตั้งโรงพยาบาลภาคสนาม และให้ผู้ป่วยโรคไตไปล้อมบ้าน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นภาพที่ไม่น่าดูต่อรัฐบาลแน่มิหนำซ้ำหากปล่อยให้แพทย์ชนบทเคลื่อนขบวนไปได้ก็จะเป็นแบบอย่างให้ม็อบเกษตรกร ม็อบพีมูฟ ทำตามกดดันบ้านนายกปูฯ ด้วย

ขณะเดียวกัน ด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายและการสร้างแนวร่วมที่มีพลัง ไม่เกี่ยวกับการเมืองภาพใหญ่ จึงทำให้ภาพของม็อบหมอดูกลางๆเข้าได้กับทุกฝ่าย ตรงกันข้ามกับรัฐบาล ซึ่งช่วงนี้กำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วงหลายเรื่องทั้งร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง การประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.เงินกู้2 ล้านล้านบาท รวมถึงรัฐมนตรีสายล่อฟ้าอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปลอดประสพสุรัสวดี ที่เรียกแขกได้ทุกวัน หากตัดการเผชิญหน้าจากกลุ่มหมอออกได้ก็เป็นเรื่องดี

เมื่อผลออกมาเช่นนี้ฝ่ายที่เจ็บตัวหนักย่อมหนีไม่พ้น นพ.ประดิษฐ และข้าราชการคู่ใจอย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ที่เสียหน้าอย่างรุนแรง หลังยืนกรานว่า P4P เป็น "ยาดี" มาตลอด3-4เดือน พร้อมกับโพนทะนาว่า คนส่วนใหญ่ใน สธ. แฮปปี้กับP4P ทั้งที่รู้ดีว่ายานี้มีปัญหา มิเช่นนั้น พยาบาลและวิชาชีพต่างๆ ทั่วประเทศที่เคยออกมาส่งเสียงเชียร์ก่อนหน้านี้คงไม่เงียบหายไป จนล่าสุดเมื่อ2-3วันก่อนหน้านี้ต้องไปเกณฑ์"อาสาสมัครสาธารณสุข" ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับนโยบายนี้เลยมาออกตัวเชียร์แทน

ถึงกระนั้นเอง ในวันนี้ นพ.ประดิษฐ ก็ยังไม่ยอมเสียรังวัดไปทั้งหมด เพราะยังยืนกรานชัดว่าจะจ่ายเงินเยียวยา และให้ทำP4Pตามสมัครใจ โดยใช้มาตรฐานของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่4และฉบับที่6จนถึงวันที่1 ต.ค.นี้เท่านั้น หลังจากนั้นP4Pจะเดินหน้าเต็มรูปแบบในที่สุดทำให้แพทย์ชนบทและเครือข่ายยังต้องอยู่ในที่ตั้งและพร้อมรบอยู่เสมอ

เพราะตลอด8เดือนของการเป็นรัฐมนตรีแม้ นพ.ประดิษฐ จะมีแนวคิด "ก้าวหน้า" ในการบริหาร สธ. ตั้งแต่การตั้งเขตสุขภาพ จัดโครงสร้างของแต่ละกรม วางบทบาทขององค์กรอิสระในสังกัด สธ.ใหม่ หรือนโยบายที่เป็นข้อขัดแย้งที่สุดอย่างP4Pแต่ทั้งหมดก็ยังไม่มีนโยบายใดที่ประสบความสำเร็จ มิหนำซ้ำความตั้งใจอย่างการขึ้นค่าบริการสาธารณสุขก็โดนกรมบัญชีกลางที่ดูแลสวัสดิการข้าราชการเบรก หรืออย่างแนวคิดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่ตั้งใจจะครอบองค์กรตระกูล ส. และดูแลระบบสาธารณสุขแบบองค์รวมก็เป็นหมัน เพราะนายกฯ ปูสั่งเบรกด้วยตัวเองท่ามกลางความงุนงงของคู่ต่อสู้ว่าเพราะเหตุใดนายกฯ จึงหักหน้าคนคุ้นเคยกันอย่างนพ.ประดิษฐ จนหมดท่า

กลายเป็นว่าผลงานของ นพ.ประดิษฐ ยังไม่มีอะไรออกมาชัดเจน ซ้ำยังถูกกล่าวหาอีกว่าพฤติกรรมของเจ้ากระทรวงตั้งใจะรวบอำนาจไว้กับตัวเอง เอื้อประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลเอกชน และสร้างความแตกแยกให้กับกระทรวงเพียงอย่างเดียว จนภาพที่เคยขาวสะอาดก่อนรับตำแหน่งเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปด้วยข้อครหาเหล่านี้

เส้นทางหลังจากนี้น่าสนใจว่า นพ.ประดิษฐจะเลือกเดินหน้าแนวคิดที่ตัวเองเชื่ออย่างเช่นก่อนหน้านี้ หรือจะเลือกประนีประนอมกับแพทย์ชนบทต่อไป แต่หากวิเคราะห์นิสัยใจคอของเจ้ากระทรวงคนนี้ น่าจะเป็นไปในแนวทางแรกมากกว่า เพราะเขาไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้แล้ว

เพราะ นพ.ประดิษฐ มาด้วยเสียงขอร้องจากอดีตเพื่อนนักธุรกิจด้วยกันอย่างนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้เข้ามาช่วยดู สธ. และก็รู้กันดีว่าในเรื่องเศรษฐกิจนพ.ประดิษฐ คือคนที่มีบทบาทสำคัญ ช่วยให้นายกฯ ตัดสินใจไดง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน นพ.ประดิษฐ ก็ยังเป็นกลุ่มรัฐมนตรีสายตรงนายกฯ เช่นเดียวกับ กิตติรัตน์ และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม

ต่างจากภาพของรัฐมนตรีกลุ่มอื่นๆที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อต่างตอบแทนให้กับกลุ่มการเมืองแต่ละกลุ่ม หรือมีไว้ใช้ตอบโต้ทางการเมืองแบบรัฐมนตรีบางคน ด้วยเหตุนี้เองทำให้กลุ่มสายตรงนายกฯ ต้องทำงานหนัก เพื่อให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูมีผลงานมากที่สุด หากมีเหตุจำเป็นให้ต้องเลือกตั้งใหม่ในเร็ววัน

เวทีวันนี้จึงเป็นเพียงการเลื่อนเวลาออกไปไม่ให้กระทบกับภาพลักษณ์ของนายกฯ และรัฐบาลที่กำลังเผชิญมรสุมหนักอยู่เท่านั้น แต่คู่ขัดแย้งที่ชัดเจนคือ นพ.ประดิษฐ และแพทย์ชนบทยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆหาก นพ.ประดิษฐยังคงนั่งเก้าอี้ตัวนี้อยู่ ศึกต่อไปย่อมใหญ่กว่านี้แน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 มิถุนายน 2556