ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้จะผ่านพ้น "วันงดสูบบุหรี่โลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีไปแล้ว แต่ยังไม่อยากให้ลืมเลือน เพราะผลกระทบอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ยังคงมีให้เห็นกันอยู่อย่างต่อเนื่องทุกวัน

ไม่แปลกที่ "องค์การอนามัยโลก" ต้องออกคำขวัญรณรงค์กันทุกปี อย่างเช่นปีนี้...ใช้คำขวัญว่า "ไม่ใช้ ไม่รับ ไม่สนับสนุนโฆษณายาสูบร้าย ทำลายชีวิต" ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของบ้านเรา ก็ภูมิใจกับการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหวังลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนภาพคำเตือนสยองๆ บนซองบุหรี่ จำนวน 10 ภาพ และเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ให้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากที่ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 เพราะมั่นใจว่าภาพพิมพ์และข้อความคำเตือนพิษภัยที่ข้างซองบุหรี่ มีผลต่อทัศนคติของผู้สูบ ซึ่งอ้างอิงผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ที่ชี้ว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71 หวนนึกถึงอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ร้อยละ 62 นึกถึงการเลิกบุหรี่ และร้อยละ 80 เกิดแรงผลักดันพยายามเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น

ประเทศไทยดำเนินการควบคุมยาสูบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีแผนการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ปี 2555-2557 มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ "3 ลด 3 เพิ่ม" โดย 3 ลด ประกอบด้วย 1.ลดนักสูบหน้าใหม่อายุ 15-24 ปี และอายุ 19-24 ปี ทั้งชายและหญิง 2.ลดนักสูบรายเก่าในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้สูบยาเส้น 3.ลดควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ที่สาธารณะ และที่บ้าน ส่วน 3 เพิ่ม ประกอบด้วย 1.เพิ่มกลไกการป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ 2.เพิ่มผู้ขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ จังหวัด และท้องถิ่น และ 3.เพิ่มนวัตกรรมการควบคุมยาสูบ นอกจากนี้ ยังเปิดศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โทร.1600 มี 27 คู่สาย โดยตลอดปี 2555 มีผู้ใช้บริการ 103,653 ครั้ง ส่วนปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน มีผู้ใช้บริการ 56,418 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 20 สาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยากเลิกบุหรี่

ผลงานดังกล่าว ยืนยันได้จาก "รางวัลพิเศษ" WHO Director-General Special Recognition Award ที่ "นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพิ่งได้รับมาสดๆร้อนๆ จากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ซึ่งมอบให้ผู้มีผลงานดีเด่นในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบระดับโลก และประเทศไทยเป็น  1 ใน 2 ประเทศจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลนี้

แต่แปลก! สถิติการสูบบุหรี่ของคนไทยยังคงสูง และไม่มีจิตวิวัฒน์ทีท่าจะลดลง ทั้งๆ ที่มีมาตรการออกมาควบคุมและมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขล่าสุดระบุว่า...คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ปีละ 50,700 คน หรือคิดเป็นวันละ 139 คน หรือชั่วโมงละ 5.8 คน หรือ 1 คน ในทุก 10 นาที ส่วนโรคที่ผู้สูบบุหรี่ป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 11,666 คนต่อปี โรคมะเร็งปอด จำนวน 11,740 คนต่อปี โรคมะเร็งคอ จำนวน 7,244 คนต่อปี โรคถุงลมโป่งพอง จำนวน 11,896 คนต่อปี และโรคอื่นๆ จำนวน 8,164 คนต่อปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อปี 2554 ว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จำนวน 11.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักสูบประจำเกือบ 10 ล้านคน โดยผู้ชายสูบมากกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่าตัว และจำนวนการสูบเฉลี่ยต่อวันเพิ่มมากขึ้น จาก 10.3 มวน ในปี 2550 เป็น 10.8 มวน ในปี 2554 โดยกลุ่มอายุ 25-29 ปี สูบมากที่สุดคือ 11.2 มวนต่อวัน นอกจากนี้ยังระบุว่า เยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เร็วขึ้น

น่าคิดว่า การรณรงค์ของภาคีเครือข่าย ซึ่งมีแกนหลักสำคัญ คือ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาจไม่ได้ผล!

ก่อนหน้านี้ "นพ.หทัย ชิตานนท์" ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ในฐานะผู้ริเริ่มการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมากว่า 20 ปี เคยออกมายอมรับว่า แม้ประเทศไทยจะมี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ออกมาบังคับใช้ และดูเหมือนจะเป็นกฎหมายที่เข้มแข็งกว่าหลายๆ ประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่าการบังคับใช้อ่อนแอ ขณะเดียวกัน มาตรการและการรณรงค์ของบ้านเรายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะแต่ละองค์กร แต่ละกลุ่ม ยังทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไร้ทิศทาง ไม่มีตัวชี้วัดร่วมกัน

มาคิดตามที่ท่านบอกไว้แล้ว...ก็จริง วันนี้...ประเทศไทยมี 3 มาตรการเข้มที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย คือ 1.การเพิ่มภาษีบุหรี่ 2.การห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย และ 3.การห้ามสูบในที่สาธารณะ พอเอาเข้าจริงแต่ละมาตรการยังใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะเมื่อดูรายละเอียดในแต่ละมาตรการ จะพบว่า

กรณีการเพิ่มภาษีบุหรี่ ที่สถิติทั่วโลกระบุตรงกันว่า หากเพิ่มภาษีร้อยละ 10 จะทำให้คนสูบน้อยลงร้อยละ 8 นั้น ปรากฏว่าบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่แก้โจทย์ข้อนี้ด้วยการผลิตบุหรี่ชนิดใหม่ ทำให้ราคาถูกลง เมื่อบวกกับการเพิ่มภาษีร้อยละ 10 จะทำให้สามารถจำหน่ายในราคาเดิมหรือไม่ต่างจากเดิมมากนัก ทำให้คนสูบก็ยังคงสูบบุหรี่เช่นเดิม

ขณะที่กรณีการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย มีการสำรวจพบว่า การรับรู้ของประชาชนที่มีต่อบุหรี่ในสื่อโฆษณาพบมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีหลัง และขณะนี้ก็ยังคงมีให้เห็นในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะเจ้าหน้าที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

ส่วนการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดนั้น กลับไม่มีการควบคุมอย่างที่ระบุไว้ในกฎหมาย ทำให้ตามสถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ราชการต่างๆ ยังคงพบเห็นมีคนสูบบุหรี่อยู่เต็มไปหมด แถมยังสร้างปัญหาให้กับคนรอบข้างที่ต้องทนรับกลิ่นและสูดควันบุหรี่มรณะตามไปด้วย

อีกประมาณ 300 วัน อีเวนต์ "วันงดสูบบุหรี่โลก" จะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง หากไม่อยากเห็นรายงานตัวเลขนักสูบ คนป่วย คนตาย เพิ่มขึ้น ก็คงต้องมาเร่งคิดกันว่าจะแก้โจทย์นี้อย่างไรต่อไป

ที่มา : นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)