ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากการเจรจาเสร็จสิ้น แพทย์ชนบทและเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพได้ประกาศชัยชนะต่อ รมต.ประดิษฐ เป็นการเจรจาครั้งสำคัญในวันที่ 6 มิถุนายน 2556 นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่รัฐบาลยอมหมดรูป ด้วยการเจรจาที่สถานการณ์พลิกในวันเดียว จากที่ รัฐมนตรีประดิษฐแข็งปั๋ง ไม่ยอมถอยสักก้าวเดียว  อีกทั้งยังดันมวลชนมาสู้ทั้งโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและ อสม.นครบาล ในวันที่ 5 มิถุนายน แต่สุดท้ายในวันที่ 6 นี้กลับยอมหมดรูป ถอยกรูดขอแต่เพียงรักษาหน้าว่าไม่แพ้เท่านั้น  ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายได้สรุปผลการเจจรจาว่า “เราไม่ใช่ชนะแต่เรื่อง P4P เท่านั้น แต่เราสามารถหยุดประดิษฐในหลายเรื่องสำคัญ  คือ  หยุดการผลักดัน co-payment ให้ประชาชนร่วมจ่าย  หยุดการทำลายหลัก purchaser-provider split โดยกลไก 12 เขตสุขภาพ  รัฐบาลยอมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมอย่างไม่เป็นธรรม โดยเป็นคำสั่งที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี  และที่สำคัญ ทำให้การเดินหน้าปฏิรวบของประดิษฐสะดุดและต้องคิดให้หนักขึ้น

นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช แกนนำชมรมแพทย์ชนบท ได้กล่าวต่อกรณีที่ รมต.ประดิษฐ และสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้ข่าวที่ไม่ตรงกับสาระการเจรจาโดยเฉพาะในประเด็นเบี้ยเลี้ยงเหม่จ่ายและ P4P ว่า  “ ใครจะพล่ามอะไรก็พล่ามไป แต่หัวใจอยู่ที่การนำสาระและข้อสรุปการเจรจาเข้าที่ประชุม ครม.ในวาระแจ้งเพื่อทราบอย่างช้าในวันอังคาร 11 มิถุนายนนี้  หากสาระบิดเบือน ไม่ใช่อย่างที่ตกลงกัน เราก็พร้อมจะชุมนุมหน้าบ้านนายกปู และจะไม่มีการเจรจาอีก และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ต้องรับผิดชอบกับการบิดเบือนนี้เพราะเป็นผู้จัดการเจรจาและเป็นผู้ทำสรุปรายงานผลการเจรจา  ผมจะเชื่อคุณสุรนันทน์อีกครั้ง กว่าจะถึงวันที่ 20 ที่นัดชุมนุมหน้าบ้านนายกปูนั้น ยังมีเวลาอีกตั้งเป็นสิบวัน เราเตรียมตัวทันอยู่แล้ว เพราะทุกคนพร้อมอยู่แล้วที่จะมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่หน้าบ้านนายก

นายแพทย์อารักษ์ ยังกล่าวเสริมว่า “รายงานการประชุมที่นำเข้าในการประชุม ครม.นั้น ไม่ได้มีแต่ผลการเจรจาเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุผลที่ทำไมเครือข่ายและชมรมแพทย์ชนบทต้องขอเปลี่ยนตัว รมต.สาธารณสุขด้วย และจะมีการส่งต่อเอกสารชิ้นนี้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ”  ซึ่งนายแพทย์อารักษ์ได้แถลงเหตุผลนี้ก่อนการเริ่มเจรจา ประดุจการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีประดิษฐนอกสภา โดยใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่แถลง

นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา แกนนำชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า “ในระหว่างการขับเคลื่อนนโยบาย p4p ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา เป็นคนสำคัญที่จัดทำรายละเอียดนโยบาย P4P ที่ผิดพลาดไปเป็นการเก็บแต้มรายกิจกรรม จนเกิดความเสียหายมากมายต่อระบบในกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งยังแอบอ้างว่าการบรรจุพยาบาลสองหมื่นอัตราเป็นผลงานสำคัญของตนเอง ชอบให้ร้ายผู้อื่น เอาดีเข้าตัว จึงเป็นอีกคนที่แพทย์ชนบทเสนอให้ไล่ไปให้พ้นจากกระทรวงสาธารณสุข” 

นายแพทย์วชิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่สำคัญ นพ.สุพรรณ ได้พูดชัดเจนจากการสัมมนาชี้แจงนโยบาย P4P ที่อุบลราชธานีและที่เชียงใหม่ว่า “พวกหมอที่ค้าน P4P มี 2 ทางเลือกคือ เลิกค้านเสียแล้วหันมาทำ P4P หรือหากไม่คิดจะทำตามนโยบายก็ให้ลาออกไป ”  ประโยคนี้หลุดออกมาจากปากของรองปลัดสุพรรณ สะท้อนเป็นความในใจของผู้ใหญ่ในกระทรวงที่คงอยากพูดนานแล้ว  แต่เก็บไว้จนทนไม่ไหวจากการเดินสายไปที่ไหนโรงพยาบาลชุมชนตามไปค้านทุกที่ สะท้อนถึงความบ้าอำนาจ ตาบอดมืดมัว ไม่เคยคิดย้อนกลับเลยว่า ทำไมนโยบายนี้ถึงมีการคัดค้านกันมามากถึงขนาดนี้  ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อ นพ.สุพรรณ ที่ต้องรับผิดชอบต่อความแตกแยกที่เกิดขึ้นด้วยการลาออกจากรองปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องไม่ตั้งให้เป็นคนเช่นนี้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นอันขาด ”