ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เพิ่มยาในบัญชียา จ. 2 หรือกลุ่มยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะซึ่งมีราคาแพงในปี 56 อีก 9 รายการ รวมเป็นยา จ.2 ทั้งหมด 15 รายการ เลขาธิการ สปสช.เผยหลังดำเนินการให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพงประเภทบัญชี จ.2 ตั้งแต่ปี 52 เผย 5 ปีพบผู้ป่วยมีอัตราเข้าถึงยากว่า 17,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก ระบุเป้าหมายเพิ่มรายการยา จ.2 เพื่อผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพงและไม่เป็นภาระกับโรงพยาบาล

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่สำคัญหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ สปสช.ให้ความสำคัญคือ การสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็น มีคุณภาพดีและเท่าเทียมกับกองทุนสุขภาพอื่น นอกจากนั้นยังตั้งเป้าหมายให้ผู้ป่วยได้รับบริการเภสัชกรรมที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยจากการใช้ยา ใช้ยาอย่างถูกต้อง ให้มีประสิทธิผลตามแผนการรักษา และมีแหล่งให้คำแนะนำการใช้ยาใกล้บ้าน โดยเฉพาะในส่วนของยาที่มีราคาแพงนั้น ที่ผ่านมาสปสช.ได้สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูงได้เข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพงหรือบัญชียาจ.2 โดยไม่สร้างภาระให้กับโรงพยาบาล ตั้งแต่ปี 2552 ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วย 8,373 คน ได้รับยาจ.2 เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5,988 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 165 โดยเป็นผู้ป่วยใหม่ 4,874 คน) ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้าถึงยา จ.2 จำนวน 17,402 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ เป็นยามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (ยาเลทโทรโซล : Letrozole) 6,214 ราย รองลงมาคือยาไอวีไอจีแบบฉีด 3,742 ราย และยาโดซีแท็กเซล : Docetaxel สำหรับโรคมะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมน 3,742 ราย

ด้าน ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ขณะที่ 6 เดือนแรกในปีงบประมาณ 2556 มีผู้ป่วยเข้าถึงยาในบัญชียา จ.2 จำนวน 4,001 คน ซึ่งในปี 2556 นี้ ได้มีรายการยาเพิ่มอีก 9 รายการ รวมเป็นบัญชียา จ. 2 จำนวน 15 รายการ

ทั้งนี้ รายการยาที่เพิ่มขึ้นได้แก่

1.Peginterferon alfa 2a และ alfa 2b ยาเพกินเทอเฟอรอน สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C) ชนิด 2 และ 3 ที่ไม่มีภาวะ HIV ร่วมด้วย

2.Ribavirin tab ยาไรบาวิริน สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่ไม่มีภาวะ HIV ร่วมด้วย

3.Thyrotropin alfa inj ยาไทโรโทรพิน สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

4.Voriconazole tab, inj ยาโวริโคนาโซล สำหรับรักษาภาวะติดเชื้อราในกลุ่มแอสเปอร์จิลลัส (aspergillus) มีทั้งรูปแบบเม็ดและฉีด

5.Bevacizumab ยาบีวาซิซูแมบ สำหรับรักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อม และภาวะจอตาบวมในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

6.ATG ยาเอทีจีสำหรับรักษาภาวะไขกระดูกฝ่อที่มีอาการรุนแรงมาก

7.Imiglucerase ยาอิมิกลูเซเรส สำหรับรักษาเด็กที่มีภาวะการสะสมไขมันผิดปกติ

8.Linezolid ยาไลเนโซลิด สำหรับรักษาเชื้อดื้อยากลุ่ม MRSA ที่ไม่สามารถใช้ยาแวนโคมายซิน :  vancomycin หรือยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้

9.Darunavir ยาดารูนาเวียร์ สำหรับรักษาผู้ป่วย HIV ที่ดื้อยาที่ไม่สามารถใช้ Tenofovir ได้

ขณะที่บัญชียา จ. 2 รายการเดิมได้แก่

1.Botulinum toxin type A inj หรือโบทูลินั่มชนิดเอแบบฉีด สำหรับโรคบิดเกร็งของใบหน้า

2.Docetaxel inj ยาโดซีท็อกเซล สำหรับโรคมะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมน

3.IVIG หรือไอวีไอจีแบบฉีดมีหลายข้อบ่งใช้ เช่น ใช้สำหรับโรคที่อันตรายถึงชีวิต (life-threatening)และไม่ตอบสนองต่อการรักษาต่อยาอื่น (refractory เช่น SLE, vasculitis เป็นต้น) ส่วนใหญ่พบเป็นโรคคาวาซากิชนิดเฉียบพลันมากที่สุด ตามด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้ายระยะวิกฤติ

4.Letrozole inj ยาเลทโทรโซล สำหรับโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย

5.Leuprorelin inj ยาลิวโพรรีลินแบบฉีด ใช้รักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก

6.Liposomal amphotericin B inj หรือยาไลโพโซมัล ชนิดบีแบบฉีด สำหรับการติดเชื้อราที่รุนแรง