ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คของชมรมแพทย์ชนบทที่ใช้ useranameชมรมแพทย์ชนบท ( https://www.facebook.com/pages/ชมรมแพทย์ชนบท)ชี้แจงเหตุผลที่จำเป็นต้องเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนตัว

น.พ.ประดิษฐ สินธณวรงค์ รมว.สาธารณสุขออกจากตำแหน่ง โดยระบุเหตุผลไว้ 6 ประการ คือ 1.ไม่มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารภาครัฐ บริหารกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ตนเองดูแลเป็นบริษัทส่วนตัว สั่งการตามอำเภอใจ ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายมากมาย

2.กรณีของนโยบาย P4P นั้น เป็นการนำแนวทาง P4P มาใช้อย่างผิดๆ ไม่มีความเข้าใจต่อเรื่อง P4P อย่างแท้จริง ไม่มีการเตรียมการและไม่มีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างถ่องแท้แล้วจึงมาดำเนินการ เมื่อนำมาดำเนินการแล้วเกิดแรงต้านคัดค้านกว้างขวางทั่วประเทศก็ยังดันทุรังเดินหน้า ไม่คิดจะทบทวนยอมรับผิด หากมีการนำ P4P มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในชนบทจะรุนแรงขึ้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับความเสียหาย เป็นการทำลายระบบสุขภาพที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะในเขตชนบท

3.เมื่อเกิดแรงค้าน แทนที่ รมว.สาธารณสุขจะตรวจสอบ เพื่อหาทางออกสร้างการมีส่วนร่วม กลับสั่งการให้มีการจัดเวทีชี้แจง P4P ทั่วประเทศ ส่งสัญญาณให้เกิดการชนกันระหว่างร.พ.ศูนย์, ร.พ.ทั่วไป กับ ร.พ.ชุมชน 4.กรณีขององค์การเภสัชกรรม การปลด น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม ที่สามารถเพิ่งยอกขายจาก 5.44 พันล้านบาทในปี 50 มาเป็น 1.14 หมื่นล้านบาทในปี 54 เป็นเรื่องผิดปกติ นอกจากนี้ น.พ.วิทิตเป็นบุคคลที่มีความสามารถ ซื่อตรง ถือเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม

5.แทรกแซง สปสช. โดยการบีบให้ น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ตั้งรองเลขาฯเพิ่มขึ้น 2 ตำแหน่ง ทั้งที่มีอยู่แล้ว 3 ตำแหน่งพอเพียงต่อการดำเนินงาน เพียงเพื่อต้องการให้คนในอาณัติสั่งการเข้ามามีตำแหน่ง กระทั่งมีการตั้ง น.พ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย มาเป็น รองเลขาฯ คาดว่า จะได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.คนต่อไป

6.การจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด 80,000 เครื่อง แจก อสม. เพื่อให้ไปคัดกรองเบาหวาน ส่อไปในทางทุจริต มีราคาแพง แทนที่จะจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทำโดยทั่วไป เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะจัดซื้อเพียง 8,000 เครื่องก็เพียงพอต่อความต้องการใช้แล้ว

ที่มา: http://www.thanonline.com