ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่แพทย์ชนบทเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกเข้าไปดูและตรวจสอบข้อเท็จจริงในการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า อยู่ระหว่างการหารายชื่อเพิ่มเติม โดยแพทย์ชนบทส่งรายชื่อมาให้แล้ว แต่ไม่มีชื่อ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้สั่งให้มีการร่างคำสั่งแล้วโดยระบุแนบท้ายให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้ ทั้งนี้ยังคงมีการตรวจสอบเงินนอกระบบ เงินซีเอสอาร์ต่อไป โดยจะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ดำเนินการ ส่วนการตรวจงบการเงินของ อภ. นั้นได้ขอให้กระทรวงการคลังเข้ามาตรวจสอบแล้ว เพราะมีการพูดมาตลอดว่ามีเงินเหลือ 4,500 ล้านบาท ดังนั้นต้องทำให้ชัดเจนว่ามีเงินอยู่จริงหรือไม่ มีหนี้เสีย หนี้สูญ มีกำไร มีสภาพคล่องเป็นอย่างไร

รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและสอบสวนเรื่องใน อภ. ว่า ผลสรุปที่ออกมาคงจะนำเข้าหารือในการประชุมบอร์ด อภ. ว่าควรดำเนินการอย่างไร เช่น ถ้ามีการกระทำผิดระเบียบคงต้องส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หากมีความเสียหายก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายด้วยการฟ้องแพ่ง ตรงนี้ถือเป็นเรื่องดีเพราะเมื่อเรื่องถึงศาลใครมีหลักฐานอะไรก็เอามาดูกันใครทำหลักฐานเท็จ ให้การเท็จก็ติดคุก เรื่องนี้คงไม่มีมวยล้ม กรณี อภ. ใครถูกก็ว่าไปตามถูก ใครผิดก็ว่าไปตามผิด

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ได้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นกรรมการตรวจสอบกรณีอภ. เพื่อให้นายกฯ แต่งตั้ง 9 คน อาทิ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการกำกับทิศทางแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการ อย. เหตุ ผลที่ไม่เสนอชื่อ นพ.บรรลุ เนื่องจากท่านอายุมากแล้วก็ไม่กล้าไปทาบทาม โดยอำนาจคณะกรรมการชุดนี้สามารถตรวจค้นดูเอกสารและ เรียกคนมาสอบได้

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธาน บอร์ด อภ. กล่าวถึงกรณีโรงงานน้ำเกลือที่ อภ. ถือหุ้นอยู่ 49.6 % ว่า ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการใหม่ เป็น นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ ทั้งนี้กำลังมีการเข้าไปตรวจสอบสถานภาพทางการเงิน การบริหารงานทุกอย่าง เพราะต้องดูของเก่าให้ชัดเจนก่อนยกเครื่องพิจารณาการเพิ่มทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสภาพคล่องมิฉะนั้นจะเป็นภาระของ อภ. เพราะปีที่ผ่านมาขาดทุนนับร้อยล้านบาท.

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--