ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องสุขภาพและสาธารณสุขบุคลากรทุกคนควรจะถูกดูแลแบบครบวงจร จึงต้องเน้นเรื่องของการศึกษาสุขภาพ (health education) ด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเป็นเจ้าภาพในการกำหนดเป็นนโยบายและวางระบบ เน้นความรู้ตามโรคและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงว่าควรรู้อะไรและป้องกันตนเองได้อย่างไรแล้วกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับลูกไปดำเนินการให้ความรู้กับเด็ก จะอาศัยเฉพาะความรู้ในวิชาสุขศึกษาไม่เพียงพอ

 "การให้ความรู้กับเด็กและคนรุ่นใหม่ต้องเป็นการศึกษากึ่งบันเทิง (edutainment) ไม่ใช่เป็นกระดาษข้อมูลหรือบอกว่าต้องทำอะไรจะขาดแรงจูงใจในการรับความรู้ โดยต้องให้ความรู้เรื่องของสุขภาพตั้งแต่เด็กแล้วปลูกให้งอกงามเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ดูแลตัวเองได้จริงในวันข้างหน้า ทุกวันนี้ที่คนเจ็บป่วยเพราะไม่รู้ ส่วนหนึ่งอาจจะรู้แล้วไม่ทำ ถ้ารับรู้ เรียนรู้และดูแลกันเองได้ โดยมีองค์ความรู้ที่มากพอ จะช่วยป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพได้ หากความรู้เข้าถึงชุมชนจะช่วยกันดูแล ป้องกัน แก้ปัญหา ทำให้ชุมชนปลอดภัยและมั่นคง จะใช้งบประมาณประเทศลดลง" น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพรกล่าว

รองเลขาธิการแพทยสภากล่าวว่า การจัดการศึกษาให้ความรู้เรื่องสุขภาพจะมีเฉพาะในโรงเรียนไม่ได้ ต้องมีแหล่งให้ความรู้ภายนอก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ซึ่งในต่างประเทศจะมีช่องโทรทัศน์สำหรับเด็กจำนวนมาก และให้ความรู้ว่าเป็นโรคนี้ต้องทำอะไร ป้องกันอย่างไร ขณะที่เมืองไทยสื่อสำหรับเด็กยังมีน้อย ทำให้เด็กมีความสุ่มเสี่ยงในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ซึ่งการให้ความรู้ต้องให้การศึกษาเรื่องสุขภาพของช่วงวัยต่างๆ ทั้งวัยรุ่น หนุ่มสาว วัยชรา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร แต่ความรู้เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในหนังสือเอกชน หรือนิตยสาร ซึ่งคนที่เข้าถึงไม่ครอบคลุมทั้งหมด--จบ--

ที่มา: www.khaosod.co.th