ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โดยส่วนตัว ผู้เขียนยังเชื่อว่าณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มีเจตนาดีที่จะทำหน้าที่ของตนให้ดีในเรื่องพีฟอร์พี แม้จะมี "มิจฉาทิฐิ" อยู่มากก็ตามโดยที่นายแพทย์ณรงค์ยังมี "อายุราชการ" อีกสองปีเศษ ก็ขอเล่า "แบบอย่าง" ของผู้มีสติปัญญาในการแก้ปัญหาบ้านเมืองไว้ให้เป็นอุทาหรณ์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี2517 ในรัฐบาลของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งมีรัฐมนตรีคลังคือ อาจารย์บุญมา วงษ์สวรรค์ตอนนั้นเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน เพราะเกิดกลุ่มประเทศโอเปก ซึ่งสามารถรวมหัวกันกำหนดราคาน้ำมันได้สำเร็จ ราคาน้ำมันจึงแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุค "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" หลังเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 เกิดการประท้วงนัดหยุดงานไปทั่ว และมีการชุมนุมครั้งใหญ่ของผู้ใช้แรงงานที่สนามหลวงเพื่อเรียกร้องให้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 25 บาท ขณะที่ลูกจ้างตำแหน่ง"ผู้ช่วยเหลือคนไข้" ซึ่งแต่งชุดเหลืองในโรงพยาบาลจังหวัดเวลานั้น ได้ค่าจ้างเพียงเดือนละ 200 บาท

สมัยนั้น ข้าราชการได้รับอภิสิทธิ์คือได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรมท่านอาจารย์บุญมาต้องการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม คือจะให้ข้าราชการต้องเสียภาษีเงินได้เหมือนประชาชนทั่วไป งานนี้เป็นงานยาก เพราะข้าราชการเป็น "กลุ่มพลัง"(Pressure Group) ที่เข้มแข็งที่สุด การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นก็เพราะมีการ "ดุล" ข้าราชการออก จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปตัดอภิสิทธิ์ที่มีมาช้านานของข้าราชการลงได้ แต่อาจารย์บุญมาก็ทำสำเร็จโดยไม่มีข้าราชการคนใดต่อต้านเลย

"เคล็ดลับ" หรือวิธีการสำคัญของอาจารย์บุญมา ก็คือทำบัญชีเงินเดือนข้าราชการใหม่ทั้งหมด เพิ่มเงินเดือนให้แก่ทุกคน พร้อมกับให้หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่หักแล้วทุกคนก็ยังได้เงินเดือนเพิ่มกันทั่วหน้า

งานนี้สำเร็จเพราะเรื่องที่ให้ข้าราชการต้องเสียภาษีเหมือนประชาชนทั่วไปเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม ยากที่ใครจะโต้แย้งได้ แต่ใช้จังหวะเริ่มเก็บภาษีพร้อมกับการขึ้นเงินเดือนให้มากกว่าภาษีที่จะเสียในขณะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ จึงไม่มีใครรู้สึกว่าเป็น "ผู้สูญเสีย" มีแต่ได้กับได้

แต่กรณีพีฟอร์พีไม่ใช่เช่นนั้นนายแพทย์เทียม อังสาชน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี หนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องพีฟอร์พี บอกว่า ตอนที่รับทำเรื่องนี้ถือหลักสำคัญคือ "ทั้งสามฝ่ายต้องได้ประโยชน์"(win-win-win) คือ 1) คนไข้ต้องได้ประโยชน์2) เจ้าหน้าที่ต้องได้ประโยชน์ และ 3)โรงพยาบาลต้องได้ประโยชน์

ถ้าทำอย่างกรณีจ่ายเงินพิเศษให้โรงพยาบาลกรณีทำหมันรายละ 200 บาทหรือกรณีจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงาน ในขณะอยู่เวรนอกเวลาราชการและในวันหยุดราชการ แม้มีปัญหาบ้างก็แก้ไขได้

เรื่องพีฟอร์พีนี้ถ้าจะทำจะต้องทำอย่างถูกหลักการ ถูกจังหวะ และถูกวิธี นั่นคือ 1)เลือกทำเฉพาะเรื่องที่แน่ใจว่าได้ประโยชน์ตามที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) แนะนำไว้ 2) ใช้วิธีจูงใจให้ทำ ไม่ใช่บังคับ 3) ให้ทำเพิ่มเติมจากระบบเดิม(on top) ไม่ฉวยโอกาสไปล้มเลิกระบบจูงใจ ที่ได้ผลที่มีอยู่แล้ว 4) จะต้องเตรียมการให้ละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ เพราะการทำงานกับหน่วยงานทั่วประเทศอย่างนี้ ทุกอย่างต้อง"เนียน" อย่าลืมภาษิตการบริหารที่ว่า "ปีศาจอยู่ในรายละเอียด" (Devil is in detail) ถ้าไม่พิจารณารายละเอียดให้ดี ก็จะเจอ "ปีศาจ"คือปัญหามากมาย

จำได้ไหม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยใช้ระบบพีฟอร์พีอย่าง"มืออาชีพ" และได้ผลดีมาแล้ว เช่น ระบบจูงใจให้ผ่าตัดต้อกระจก ระบบจูงใจให้ผ่าตัดวางสายล้างไตทางหน้าท้อง ระบบจูงใจให้ผ่าตัดหัวใจ และระบบจูงใจให้ผ่าตัดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ ระบบเหล่านี้ดีต่อคนไข้อย่างมาก บุคลากรก็พอใจ แต่กระทรวงสาธารณสุขยัง "ขัดขวาง" อ้างว่า ทำให้ "เสียการบังคับบัญชา" บุคลากรให้ความสำคัญกับงานที่มี "สิ่งจูงใจ" จากภายนอก ขนาดคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติให้ทำได้ โดยในคณะกรรมการดังกล่าวมีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธานและปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการ อดีตปลัด

กระทรวงที่ร่วมประชุมครั้งนั้นยังไปหาวิธีการขัดขวางเพียงเพราะรู้สึกว่า "กระทบต่ออำนาจ" ของผู้บริหารของกระทรวงเท่านั้นแม้พบว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างมาก ก็ยัง "ใจดำ" และ "หาเรื่อง"ขัดขวางจนได้

พีฟอร์พี ที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขดึงดันทำไปครั้งนี้ผิดหลักการอย่างร้ายแรง ทั้งสามฝ่ายนอกจากไม่ได้ประโยชน์ยังเสียประโยชน์ ข้อสำคัญระบบบริการสาธารณสุขยังถูกกระทบอย่างรุนแรง เพราะเมื่อแพทย์ชนบทออกมาประท้วงแทนที่จะดับไฟที่ต้นเหตุ กลับปลุกระดมหลายฝ่ายออกมา "ชน" ทำให้เกิด "สามัคคีเภท" ครั้งใหญ่ในระบบสาธารณสุข ซึ่งผลที่สุดย่อมกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงไม่แปลกที่บรรดา "วิทยากร" ที่กระทรวงสาธารณสุขพยายาม "ดันหลัง" ให้ออกมาเป็นวิทยากร "จูงใจ" ให้ทำพีฟอร์พี เช่นจาก โรงพยาบาลพาน และ โรงพยาบาลสูงเนินต่างขอถอนตัว และออกไปเป็นฝ่ายคัดค้านเรื่องนี้แล้ว

มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งมีโรงเรียนแพทย์อยู่ด้วย มีการ "นำร่อง" พีฟอร์พีแล้วเกิดปัญหามากมาย อธิการบดีซึ่งก็เป็นแพทย์กล่าวถึงพีฟอร์พีว่า ไม่ใช่แค่ "ใช้ยาผิด" แต่มันคือ"ยาพิษ"

ปัญหาเรื่องนี้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือ รัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ต้องติดตามดูว่าคุณทักษิณ และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะ"อุ้ม" คนประเภทนี้ไว้ใช้อีกนานแค่ไหน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 11 มิถุนายน 2556