ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์หลังครม. 10 มิ.ย. 56 มีมติรับทราบผลการหารือระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลร่วมกับเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพนำโดยชมรมแพทย์ชนบท โดยประกาศยืนยันความชอบธรรมที่จะชุมนุมจัดตั้งรพ.คนจนภาคสนามที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี

 

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท  (11 มิถุนายน 2556)

เรื่อง ยืนยันความชอบธรรมที่จะชุมนุมจัดตั้ง รพ.คนจนภาคสนาม ที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี

 

ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม  เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง  เอดส์ หัวใจ มะเร็ง โรคเลือด และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของรัฐ ไม่ให้ถูกครอบงำโดยตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทยาข้ามชาติ ด้วยการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนทั่วประเทศ ไม่เอาพีฟอร์พี และไม่เอา นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์  และประกาศ เลื่อนการชุมนุมจัดตั้ง รพ.คนจนภาคสนาม ที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีจากวันที่  6 มิย. เป็นจะชุมนุมในวันที่ 20 มิ.ย. 56  เปิดทางให้มีการเจรจากับนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี ในวันที่  4 และ 6 มิ.ย. นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล และมีข้อสรุปที่สำคัญ 10 ประการที่ผ่านการรับรองจากนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 9-10 มิย. ดังนี้

1.รัฐบาลยืนยันไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.รัฐบาลจะยกเลิกการเก็บ 30 บาท หากทบทวนข้อมูลแล้วว่าไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม

3.รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันที่จะปฏิบัติตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะไม่มีการโอนอำนาจ ในการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพให้เขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข  ทั้งพฤตินัยและนิตินัย

4. รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะไม่มีการแทรกแซงการบริหารงานภายในของ สปสช. เช่น ในกรณีการแต่งตั้งรองเลขาธิการ หรือสั่งการให้มีการสร้างสำนักงาน สปสช.แห่งใหม่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข 

5. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรม และกรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล แล้วให้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์การเภสัชกรรม ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมในการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ

6.รัฐบาลยืนยันจะไม่มีแปรรูปองค์การเภสัชกรรม โดยคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม

7.รัฐบาลโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะไม่มีการใช้เงินสะสม จำนวน 4,000 ล้านบาทขององค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้สร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

8. รัฐบาลโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะไม่ให้มีการโอนงบประมาณโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจำนวน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้ดำเนินการไปตามข้อแนะนำของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(ส.ต.ง.)

9.กรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน                                                                                                                

(1) จะมีการออกประกาศเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ให้มีรายละเอียดตามฉบับ 4 และ 6 โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยมีกรรมการจากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชนเข้าร่วมพิจารณา และมอบหมายให้ เลขานายกรัฐมนตรี และดร.คณิศ แสงสุพรรณ ดูแลให้การดำเนินการแล้วเสร็จเร็วที่สุด และไม่เกิน 60วัน

(2)ระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2556 จนถึงวันที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ให้ใช้กลไกการเยียวยาต่อผู้ถูกรอนสิทธิ ตามมติ ค.ร.ม.เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยให้ชดเชยเท่ากับส่วนต่างระหว่างอัตราตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4,6 และ ฉบับที่ 8 ทั้งหมด ทุกกลุ่มวิชาชีพ

10.ในส่วนของ P4P (Pay For Performance) ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน

(1)ให้เป็นไปโดยสมัครใจ และไม่จำเป็นต้องทำในทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย

(2)หากจะดำเนินการนำเอา P4P มาใช้งานในโรงพยาบาลชุมชน ต้องให้ทุกภาคส่วนและสหวิชาชีพ ศึกษาและกำหนดหลักการ หลักเกณฑ์รายละเอียด ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งก่อน และให้เป็นไปโดยสมัครใจ

 แต่เมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กลับไม่มีการพิจารณาเนื้อหาส่วนที่เป็นผลสรุปของการเจรจาแต่อย่างใด ข้อสรุปทั้ง 10 ข้อไม่ได้รับการตอบสนองใดๆตามที่มีการตกลงกัน มีแต่เพียงคณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นสาระความคิดส่วนตัวของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่พูดโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆตลอดเวลาที่ผ่านมาเท่านั้น  

จากมติคณะรัฐมนตรีที่บิดเบือนดังกล่าว ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ จึงขอประณามการแสดงละครเจรจาลวงโลกในครั้งนี้  สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการเจรจาที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมีนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็เป็นเพียงเกมส์ทางการเมือง อย่างไรก็ตามการที่ผู้แทนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้หักหลังไม่นำผลสรุปการเจรจาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเลยนั้น ได้สร้างความชอบธรรมถึงระดับมากที่สุดในการการเคลื่อนเพื่อขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ออกไป โดยไม่มีการเจรจาใดๆอีก และยืนยันความชอบธรรมที่จะชุมนุมจัดตั้ง รพ.คนจนภาคสนาม ที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบให้ข้อมูลกับนายกรัฐมนตรี โดยตรง

                                                               

                                                                                                              ชมรมแพทย์ชนบท

                                                                                          และเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ

                                                                                                               11 มิถุนายน 2556