ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศึก P4P ยังไม่จบ แพทย์ชนบทเพิ่งนึกได้อาจถูกหลอก "หมอเกรียง" โวยฝ่ายรัฐบาลไม่เอาผลเจรจาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.เข้าที่ประชุม ครม.เพื่อออกมาเป็นมติ ทำแค่เพียงการเสนอผลการหารือเท่านั้น จวกเป็นแค่เกมการเมือง เล่นละครลวงโลก ต่อมา ยอมอ่อนข้อหลัง "สุรนันทน์" ออกมายันนำเข้า ครม.เรียบร้อยแล้ว และให้เวลา สธ.และรัฐบาล 2 วัน ยืนยันว่าข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนองจริง แต่ถ้าไม่สำเร็จเจอกันหน้าบ้านนายกฯ 20 มิ.ย.

ผลสืบเนื่องมาจากนายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกรัฐบาล ได้ออกมาแถลงถึงผลการเจรจาระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบทกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีความขัดแย้งการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P) โดยโฆษกรัฐบาลระบุว่า ผลการหารือเมื่อวันที่ 4 และ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายหมายถึงกลุ่มแพทย์ชนบทยอมรับและเห็นด้วยกับหลักการ  P4P ว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการสุขภาพ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. เวลา 14.00 น. นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ทางเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจว่าเนื้อหาส่วนที่เป็นผลสรุปของการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลที่มี 10 ข้อ ได้นำไปเสนอให้ ครม.รับทราบเท่านั้น ดังนั้นจึงถือได้ว่ามติ ครม.เป็นการบิดเบือนผลการหารือ ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายฯ จึงขอประณามการแสดงละครเจรจาลวงโลกในครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วการเจรจาที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็เป็นเพียงเกมทางการเมือง

"การที่ผู้แทนนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ.ได้หักหลังไม่นำผลสรุปการเจรจาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเลยนั้น ได้สร้างความชอบธรรมถึงระดับมากที่สุดแก่พวกเรา ในการการเคลื่อนเพื่อขับไล่ นพ.ประ ดิษฐ รมว.สาธารณสุขให้ออกไป โดยไม่มีการเจรจาใดๆ อีก และยืนยันความชอบธรรมที่จะชุมนุมจัดตั้งโรงพยาบาลคนจนภาคสนามที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบให้ข้อมูลกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง"

ต่อมาเมื่อเวลา 15.40 น. นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ภายหลังจากที่ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวไปแล้ว ได้รับการประสานงานจากนายสุรนันทน์ ทำให้รับทราบว่าเรื่องของชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายฯ ได้ถูกนำเข้า ครม.เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการชุมนุมในวันที่ 20 มิ.ย. ที่บ้านนายกฯ นั้นก็ขอรอดูความชัดเจนของการตั้งคณะทำงานแก้ไขระเบียบที่เสนอผ่าน นพ.คณิต แสงสุพรรณ และนายสุรนันทน์ในอีก 2 วันนี้ก่อน ถ้าไม่ได้รับการตอบรับ แสดงว่าข้อสรุปการเจรจาไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติแน่นอน ตอนนี้เราไม่เชื่อใจ สธ.ว่าจะนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติ ดูเหมือนว่าเขาจะคิดอยู่เรื่องเดียว คือการให้ปฏิบัติตาม P4P

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. กล่าวว่า ถึงกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลง การณ์จะชุมนุมในวันที่ 20 มิ.ย.ว่า ไม่รู้จะทำอย่างไร ตนก็ทำให้ครบหมดแล้วเท่าที่จะทำได้ อย่างการนำผลการเจรจาเสนอ ครม.ก็สรุปตามบันทึกและอยู่ในบันทึกแนบ อย่างบางเรื่องเป็นดุลยพินิจนายกฯ เช่น เรื่องที่จะให้ตนออก ทั้งนี้ ครม.รับทราบว่ามีข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 มิ.ย. จะมีการนัดกลุ่มแพทย์ชนบทมาพูดคุยเรื่องตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนฉบับใหม่ว่าจะตั้งกี่คนอย่างไร

ขณะที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวถึงองค์ประกอบคณะทำงานจัดทำร่างระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ว่า เนื่องจากเป็นระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ในมุมมองของตนเห็นควรมีผู้แทนจากทุกวิชาชีพสาธารณสุข ไม่เห็นด้วยหากจะมีคนนอกเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ยังไม่มีความเห็นต่อรายชื่อผู้แทนที่ทางเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพเสนอมา ส่วนตัวแล้วคงต้องมากำหนดสัดส่วนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หลังได้ระเบียบออกมาแล้วทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ ส่วนการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นต้องมาคุยกัน ซึ่งงบประมาณส่วนที่ยังขาดอยู่ก็ต้องมาดูสถาน การณ์การเงินการคลังอีกครั้งหนึ่ง

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพเสนอรายชื่อผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานออกระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับใหม่ ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้แทนจากเครือข่ายภาคประชาชนและตัวแทนผู้ป่วยเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย ว่า คณะทำงานชุดนี้ควรประกอบไปด้วย 3 กลุ่มคือ กระทรวง วิชาชีพ และเอ็นจีโอสายวิชาชีพสาธารณสุข ส่วนที่เสนอภาคประชาชนหรือตัวแทนผู้ป่วยนั้นไม่ควรเข้ามายุ่งตรงนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องกฎหมายการเงินการคลัง การจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอะไรต้องเข้าใจหลักการก่อน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 12 มิถุนายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง