ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอชนบทจวก'สุรนันทน์-หมอประดิษฐ'หักหลัง ไม่ดัน 10 ข้อที่มีข้อสรุปร่วมกันให้ ครม.เห็นชอบ ซัดเป็นการเจรจาลวงโลก ลั่นรวมพลประท้วงหน้าบ้านนายกฯ 20 มิ.ย. ไม่เจรจาอีก สหภาพ อภ.พร้อมพันธมิตรทั้งการไฟฟ้า-ประปาร่วม

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงผลการประชุม ครม.สัญจร ที่เห็นชอบกำหนดหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามอัตรา ผสมผสานการจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay For Performance : P4P) โดยให้ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ 1 ชุด ให้ได้ข้อสรุปภายใน 60 วัน ก่อนให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศดำเนินการพร้อมกันในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ว่า หลังจากที่ทางเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ประกอบด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เอดส์ หัวใจ มะเร็ง โรคเลือด และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวกันเคลื่อนไหวขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของรัฐ ไม่ให้ถูกครอบงำโดยตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จนนำไปสู่การประชุมหาข้อยุติเรื่องนี้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ปรากฏว่าผลการประชุมและข้อเสนอที่ ครม.พิจารณาเห็นชอบกลับไม่ตรงตามข้อตกลง พูดเพียงพีฟอร์พีแบบกว้างๆ เครือข่ายฯจึงเห็นควรเดินหน้าประท้วงหน้าบ้านพัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ในวันที่ 20 มิถุนายน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แทนรัฐบาล โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ และ นพ.ประดิษฐ ร่วมกับเครือข่ายฯ ต่างเห็นร่วมกัน 10 ข้อ คือ 1.รัฐบาลยืนยันไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.รัฐบาลจะยกเลิกการเก็บ 30 บาท หากทบทวนข้อมูลแล้วว่าไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม 3.รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการ สธ. ยืนยันที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะไม่มีการโอนอำนาจ ในการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพให้สุขภาพแห่งชาติ โดยจะไม่มีการโอนอำนาจ ในการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพให้เขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งพฤตินัยและนิตินัย 4.รัฐมนตรีว่าการ สธ.ยืนยันจะไม่มีการแทรกแซงการบริหารงานภายในของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

5.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) และกรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.แล้วให้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกฯ และเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ อภ. 6.รัฐบาลยืนยันจะไม่มีแปรรูป อภ.7.รัฐบาลโดย รัฐมนตรีว่าการ สธ.ยืนยันจะไม่มีการใช้เงินสะสม 4,000 ล้านบาท ของ อภ.เพื่อใช้สร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวง สธ. 8.รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการ สธ.ยืนยันจะไม่ให้มีการโอนงบประมาณโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจำนวน 75 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวง สธ. และให้ดำเนินการไปตามข้อแนะนำของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

9.กรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน แบ่งเป็น 1.จะมีการออกประกาศเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ให้มีรายละเอียดตามฉบับ 4 และ 6 โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยมีกรรมการจากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชนเข้าร่วมพิจารณา โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน 2.ระยะวลานับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จนถึงวันที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ให้ใช้กลไกการเยียวยาต่อผู้ถูกรอนสิทธิ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยให้ชดเชยเท่ากับส่วนต่างระหว่างอัตราตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4, 6 และฉบับที่ 8 ทั้งหมด ทุกกลุ่มวิชาชีพ และ 10.ในส่วนของพีฟอร์พีของโรงพยาบาลชุมชน ให้เป็นไปโดยสมัครใจ และไม่จำเป็นต้องทำในทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ในกรณีหากจะดำเนินการนำเอาพีฟอร์พีมาใช้งานในโรงพยาบาลชุมชน ต้องให้ทุกภาคส่วนและสหวิชาชีพ ศึกษาและกำหนดหลักการ หลักเกณฑ์รายละเอียด ให้และกำหนดหลักการ หลักเกณฑ์รายละเอียด ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งก่อน และให้เป็นไปโดยสมัครใจ

"หากเป็นไปตามข้อเสนอทั้ง 10 ข้อทุกอย่างก็จบ แต่การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา กลับไม่มีการพิจารณาเนื้อหาส่วนที่เป็นผลสรุปของการเจรจาแต่อย่างใด ข้อสรุปทั้งหมดไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ มีแต่เพียง ครม.รับทราบข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการ สธ. จึงขอประณามการแสดงละครเจรจาลวงโลกในครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการเจรจาที่ทำเนียบรัฐบาล ก็เป็นเพียงเกมทางการเมือง จากนี้ไปจะไม่มีการเจรจาใดๆ อีก และยืนยันความชอบธรรมที่จะชุมนุมจัดตั้งโรงพยาบาลคนจนภาคสนาม ที่หน้าบ้านนายกฯเหมือนเดิม" แถลงการณ์ฯระบุ

ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบทยังโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจผ่านเฟซบุ๊กกลุ่ม โดยเชิญชวนให้ร่วมกันชุมนุมประท้วงหน้าบ้านนายกฯ เนื่องจากมองว่า นพ.ประดิษฐ และรัฐบาล ไม่จริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่า "บทเรียนของการโดนหักหลังครั้งนี้ เป็นเหมือนยาบำรุงกำลังที่ดีเยี่ยม เติมความคับแค้นให้มีความกล้าต้องไล่ นพ.ประดิษฐ ออกไปสถานเดียว ...แท้จริงการเจรจาก็เป็นเพียงเกมทางการเมือง ถ่วงเวลาเพื่อทำลายขบวนการของพวกเรา เตรียมพลัง สะสมกำลัง รอการเป่านกหวีด ออกมาร่วมชุมนุมใหญ่ครับพี่น้อง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังออกแถลงการณ์ดังกล่าวมีกระแสข่าวว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ ได้ติดต่อขอพูดคุยกับกลุ่มแพทย์ชนบทอีกครั้ง เพื่อขอไม่ให้ไปประท้วงหน้าบ้านนายกฯ

นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สหภาพ อภ. จะร่วมกับสหภาพต่างๆ ทั้งสหภาพการไฟฟ้านครหลวง,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งยังมีการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค มีความเห็นว่า หากกลุ่มหมอโรงพยาบาลชุมชนเดินหน้าประท้วง พวกตนก็จะร่วมชุมนุมด้วย

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง สธ.กล่าวว่า กระทรวงทำตามมติที่หารือกันเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยมติออกมาเช่นไรก็ดำเนินการเช่นนั้น ส่วนการหารือในรายละเอียดจะมีการพูดคุยกันในคณะกรรมการศึกษาพีฟอร์พีฯ ที่จะตั้งขึ้น โดยจะเชิญทุกวิชาชีพมาร่วมหารือ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดไปพูดคุยกับทุกโรงพยาบาลในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน พีฟอร์พีอีกทางหนึ่ง

"ล่าสุด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. สั่งให้ประชุมตัวแทนกลุ่มวิชาชีพในหน่วยบริการทุกระดับ ในวันที่ 12 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงกระทรวงสาธารณสุข ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้แทนจากทุกวิชาชีพ โดยมีสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมประชุมด้วย เป็นการพูดคุยนัดแรกภายในกระทรวง เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานพัฒนาระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี และตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการต่อไป" ปลัดกระทรวง สธ.กล่าว

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 13 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--