ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอประดิษฐ"เดินหน้าตั้งคณะกรรมการพีฟอร์พี ค้านให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ด้าน"แพทย์ชนบท" เมินเข้าร่วมประชุมพีฟอร์พีนัดแรก อ้างกระบวนการต้องเริ่มโดย "สุรนนทน์-ดร.คณิต" เท่านั้น แง้ม 20 มิ.ย.นัดรวมตัวชุมนุมติดตามความคืบหน้า

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีที่แพทย์ชนบทประกาศชุมนุมในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ว่า แพทย์ชนบทกำลังเข้าใจผิดคิดว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นำข้อเสนอของเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะในการประชุมสิ่งที่ได้มีการพูดคุยกันเป็นข้อสรุปจากการคุยกันในวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้ฟังจากข้อสรุปเหล่านี้ โดยตนยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขได้นำข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครบทุกประเด็น และวันนี้จะเป็นการเริ่มดำเนินการตามที่ได้มีการคุยกันไว้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการทำกติกาพีฟอร์พีและเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย

ดังนั้นทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงนัดประชุมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเริ่มนับหนึ่งว่าตัวคณะกรรมการพีฟอร์พีนั้นจะมีการนำใครเข้ามาบ้าง และจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร รวมถึงรายชื่อของคณะทำงานที่ตนได้อนุญาตให้มีการตั้งขึ้น เพื่อเข้าไปตรวจสอบดูข้อมูลความโปร่งใสในการสอบสวนผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมด้วย

"วันนี้คงเป็นเรื่องของคณะกรรมการก่อนว่าเห็นด้วยไหม เช่น ทางแพทย์ชนบทเสนอมาว่าอยากจะเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งตนก็ได้บอกว่าเข้ามาเลย เข้ามาเยอะๆ จะเข้ามาเพียงแค่ 1 - 2 คนไม่พอ อย่างน้อยต้องเข้ามาสัก 5-6 คน และแพทย์กลุ่มอื่นๆ จากโรงพยาบาลชุมชนอีก รวมแล้วตัวแทนฝ่ายโรงพยาบาลชุมชนน่าจะ 8 คน ส่วนตัวแทนจากแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป อาจจะเข้ามาร่วมกัน 3-4 คน และวิชาชีพอื่นๆ อีก ซึ่งมีประมาณ 21 วิชาชีพ เช่น สาธารณสุขอำเภอ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย  ส่วนการเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย สำหรับตนคิดว่าท่านไม่ได้เป็นข้าราชการอย่าเข้ามาเลย แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรหากจะเข้าร่วมประชุมด้วย ยินดีให้เข้ามานั่งฟังได้ทุกครั้ง แต่ท่านไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้" นพ.ประดิษฐ กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายพีฟอร์พีนั้น ตนได้พูดไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าการพูดว่าเยียวยาโดยใช้ระเบียบค่าตอบแทนฉบับ 4 และ 6 นั้นผิดหมด เพราะเราต้องมาตั้งต้นว่าของเก่าคือ ฉบับ 4 และ 6 หากจะชดเชยต้องเป็นของเก่าลบด้วยของใหม่ซึ่งก็คือระเบียบค่าตอบแทนฉบับ 8 เช่น เดิมได้ค่าตอบแทน 1,000 บาท ค่าตอบแทนใหม่ได้ 900 บาท จากนั้นก็ค่อยมาคิดวิธีที่จะจ่ายให้ ซึ่งตัวคณะกรรมการชุดนี้จึงอยากให้ตัวแทนจากกรมบัญชีกลางเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อให้ดูวิธีการจ่ายเงินว่าจะจ่ายกันอย่างไร สรุปแล้วเรื่องการชดเชยเยียวยาหลักคิดมันง่ายๆ ก็คือต้องเอาระเบียบเก่ามาตั้งและลบด้วยระเบียบใหม่ เพราะการเยียวยาต้องเริ่มต้นจากฐานเดิม ดังนั้นเราต้องคุยกันก่อนว่าตัวตั้งของแพทย์ชนบทคืออะไร อย่าไปยึดระเบียบ 4 และ 6 ท่านต้องเข้าใจกรอบวิธีคิดก่อน  ส่วนการเรียกร้องให้มีการออกระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่เป็นของโรงพยาบาลชุมชน นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทางคณะกรรมการพีฟอร์พีจะต้องมาคุยร่วมกัน เช่น เรื่องระเบียบการจ่ายเงินจะเป็นอย่างไร อัตราการจ่ายเงินฉบับเก่าและฉบับใหม่เป็นอย่างไร เพราะเขามีการเรียกร้องหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำงานเกิน 20 ปี ขอให้มีการชดเชยเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันในวงใหม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องตัวชี้วัดของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งแตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ เพราะโรงพยาบาลชุมชนทำหน้าที่ป้องกันส่งเสริมสุขภาพประชาชน ในขณะที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ทำหน้าที่ในการรักษา เคพีไอที่ให้จึงไม่เหมือนกัน การคิดคะแนนจากผลการปฏิบัติจึงต่างกัน

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า วันนี้ (12มิ.ย.) จะไม่เข้าร่วมหารือนัดแรกกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเวลา 16.00 น. เพราะผลสรุปจากการประชุมเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ได้มอบหมายให้ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กับนายคณิต แสงสุพรรณ บอร์ด สปสช.รับไปดำเนินการ ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการพีฟอร์พีจะต้องเสนอผ่านทั้ง 2 ท่านก่อน ดังนั้นการที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมผู้เกี่ยวข้องในวันนี้แพทย์ชนบทไม่เชื่อมั่นอยู่แล้ว เพราะกระบวนการต้องเริ่มโดยผ่านทั้ง 2 ท่านเท่านั้น

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สรุปแล้วในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ จะมีการชุมนุมอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่บ้านนายกรัฐมนตรี แต่จะชุมนุมกันที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต เพื่อติดตามข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ส่วนจะเคลื่อนไปที่ไหนต่อหรือไม่ยังบอกไม่ได้ ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติตามข้อตกลงจะต้องเป็นไปตามข้อเสนอของแพทย์ชนบท โดยระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ที่จะแก้ไขปรับปรุงต้องยึดระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และ 6 ส่วนการทำพีฟอร์พีต่อไปต้องเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีและต้องทำด้วยความสมัครใจ

ขณะที่ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันนี้แพทย์ชนบทไม่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ และจะไม่เข้าจนกว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีท่าทีที่ถูกต้องเสียก่อน อยากให้ทุกฝ่ายจับตาดูว่าวันนี้จะได้ใครมาเป็นประธานกรรมการ ใครเป็นกรรมการ และมีบทบาทหน้าที่แค่ไหน กรรมการที่ไม่มีกรอบจุดยืนการทำงานที่ชัดเจนก็เป็นแค่ฝักถั่วตรายาง และการตั้งกรรมการชุดดังกล่าว หากให้มีความเหมาะสมต้องตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรี มีคนนอกเป็นประธาน เพราะกระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรีและปลัดเป็นคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกับแพทย์ชนบท จะมาตั้งตนเองเป็นประธานและควบคุมทิศทางการประชุมซึ่งคงไม่ใช่ และยอมรับไม่ได้

นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า แพทย์ชนบทมีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยน คือ 1.ยืนยันการมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเช่นเดิมมีความสำคัญในการคงวิชาชีพสุขภาพในชนบท ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทขอคงอัตราและแนวทางเดิมในประกาศฉบับ 4 และ 6 ไว้ทุกประการ 2.เราสนับสนุนให้มีการปรับอัตราเพิ่มของวิชาชีพอื่นๆ ให้เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องคงหลักการนี้ไว้โดยไม่ปรับลดก่อน 3.ระหว่างการร่างประกาศเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ใน 60 วัน กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเยียวยาทุกคนให้ได้ค่าตอบแทนเหมือนการใช้ประกาศฉบับ 4 และ 6  และ 4.กรณีพีฟอร์พีจะต้องเป็นการทำโดยสมัครใจไม่ใช่บังคับ ณ 1 ต.ค.นี้ หากการปรับแต่งเกณฑ์การวัดพีฟอร์พีใหม่ออกมาไม่น่าทำ ยังเป็นการเก็บแต้มรายกิจกรรม ก็เป็นสิทธิของโรงพยาบาลที่จะไม่ทำต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 มิถุนายน 2556