ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายคนได้ยินคำว่า "พีฟอร์พี"เป็นครั้งแรก หลังจากเกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกลุ่มแพทย์ชนบท

"พีฟอร์พี"ตามนิยามของกระทรวงสาธารณสุข คือ ระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน แต่ทั่วโลกมีการนำคำนี้ไปใช้ในหลายวงการ รวมทั้งในธุรกิจบริการทางเพศ ที่พีฟอร์พีเป็นศัพท์สแลงมีความหมายว่า จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุขทางเพศ

ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะรัฐบาลนี้มีความกล้าเป็นพิเศษ หรือเป็นเพราะหัวหน้ารัฐบาลเอาไม่อยู่ จึงปล่อยให้รัฐมนตรีร่วมคณะหลายต่อหลายคนทำเรื่องหมิ่นเหม่ซึ่งในกรณีนี้เป็นการเอาอำนาจการเมืองไปชนกับกลุ่มคนที่มีความรู้และเป็นที่พึ่งของสังคม

สำหรับคนไทยทั้งประเทศ คงมีน้อยคนที่มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองว่าระบบผลตอบแทนแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างระบบเหมาจ่ายกับระบบพีฟอร์พี

แต่ให้เลือกเชื่อระหว่างกลุ่มแพทย์กับกลุ่มการเมือง ความโน้มเอียงคงไปทางกลุ่มแพทย์

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข่าวลือให้แซดเรื่องการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขพยายามเข้าไปล้วงลูกและแสวงหาผลประโยชน์ในองค์การเภสัชกรรม แต่ผู้อำนวยการซึ่งมีประวัติและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่ยอมเป็นเครื่องมือจึงถูกกลั่นแกล้ง ถูกกล่าวโทษโดยไม่เป็นธรรม และถูกให้ออกจากตำแหน่ง

เมื่อนำทั้งสองเรื่องมาประกอบกันจึงเกิดกระแสต่อต้านรุนแรง และมีการยื่นเงื่อนไขให้ปลดรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง

ผมลองไปศึกษาค้นคว้าข้อมูล และแม้จะยังไม่ทราบเบื้องหลังทั้งหมด แต่มองในแง่มุมของการบริหารจัดการ ก็พบจุดอ่อนและเรื่องผิดสังเกตหลายประการ ดังนี้

หนึ่งหลักการของพีฟอร์พีฟังผิวเผินเป็น

เรื่องดีระบบเหมาจ่ายทำให้คนขยันกับคนขี้เกียจได้ผลตอบแทนเท่ากัน แต่ในระบบพีฟอร์พี คนที่ทำงานดีกว่า ขยันกว่า จะได้ผลตอบแทนมากกว่า

ปัญหาอยู่ที่จะให้ใครเป็นคนวัดผล และจะใช้เกณฑ์อะไรในการวัด ระบบของกระทรวงสาธารณสุขวัดได้เพียงจำนวนชิ้นงาน แต่ไม่สามารถวัดคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน

ระบบนี้อาจเหมาะกับงานขายหรืองานผลิต คือ จ่ายค่าคอมมิชชันตามปริมาณที่ขายได้ หรือจ่ายค่าแรงตามจำนวนชิ้นที่ผลิตได้ แต่อาจไม่เหมาะกับงานบริการที่มีความสลับซับซ้อน มีความละเอียดอ่อน และคุณภาพบริการเป็นตัวแปรที่สำคัญ

ผมนึกภาพไม่ออกว่า ระบบพีฟอร์พีจะวัดผลงานของแพทย์แต่ละแขนง จำนวนโรคภัยไข้เจ็บนับไม่ถ้วน และคนไข้มีอาการหนักเบาต่างกันให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างไร

และเมื่อพิสูจน์ความยุติธรรมไม่ได้ก็เป็นการง่ายที่จะบิดเบือนระบบ และใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในการกลั่นแกล้งผู้อื่น

สองรมว.สาธารณสุข ย้ำแล้วย้ำอีกว่า จุดประสงค์ของการนำระบบนี้มาใช้ ก็เพื่อช่วยรั้งบุคลากรให้คงอยู่ในภาครัฐ แทนการลาออกไปทำงานในภาคเอกชน บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีแต่จะได้ประโยชน์ หรือพูดง่ายๆ หากไม่ได้เท่าเดิมก็จะได้มากขึ้น

รัฐมนตรีย้ำอีกว่า งบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพื่อการนี้ก็มีมากขึ้น

แต่หากไม่มีเงื่อนงำเหตุใดจึงถูกกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ออกมาคัดค้านและประท้วงอย่างกว้างขวาง อย่าลืมว่ากลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่ไม่มีความรู้ หรือคิดเลขไม่เป็น

ที่ทำให้ผิดสังเกตยิ่งขึ้น คือ ล่าสุดมีการพูดถึงมาตรการเยียวยา ซึ่งย่อมมีความหมายว่า มีผู้เสียประโยชน์แล้ว และกลุ่มนี้ควรได้รับการชดเชย

สามหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการทำงาน คือการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน และหากไม่ชัดเจนว่าเงื่อนไขใหม่ดีกว่าเงื่อนไขเดิมลูกจ้างก็มักจะมีสิทธิเลือกว่าจะอยู่กับระบบเดิม หรือย้ายเข้ามาอยู่ในระบบใหม่

ในกรณีนี้ก็เช่นกัน หากจะให้การนำระบบพีฟอร์พีมาใช้โดยไม่เกิดปัญหา ก็อาจต้องให้บุคลากรแต่ละคนที่ทำงานอยู่แล้ว เลือกว่าจะรับค่าตอบแทนตามระบบเดิม หรือจะเปลี่ยนมารับตามระบบใหม่

ระบบใหม่จะบังคับใช้เฉพาะบุคลากรที่เข้าใหม่เท่านั้น

หากทำตามนี้ ก็จะต้องมีระบบค่าตอบแทนคู่ขนานกันไปจนกว่ากลุ่มเดิมจะเกษียณหรือลาออกจนหมด 

สี่เข้าใจว่าระบบพีฟอร์พีของกระทรวงสาธารณสุขไม่มีเรื่องของการแพทย์เชิงพัฒนาหรือการแพทย์สมัยใหม่ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ และให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

ที่สำคัญ คือ ถึงอยากจะใส่เข้าไปในระบบพีฟอร์พี ก็อาจไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้

ซึ่งหากมีข้อจำกัดเช่นนี้ ผลได้ก็อาจจะไม่คุ้มกับผลเสีย

ห้าการบริหารจัดการที่ผ่านมามีความอ่อนด้อยอย่างเห็นได้ชัด

เริ่มตั้งแต่โครงการนำร่องกับการปฏิบัติจริงไม่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน กล่าวกันว่า ในโครงการนำร่อง ผู้ร่วมโครงการยังได้รับค่าตอบแทนจากระบบเดิม และได้รับค่าตอบแทนตามระบบพีฟอร์พีเป็นส่วนเพิ่ม หรือเป็นของแถม จึงเห็นดีเห็นงามด้วยกันทั้งสิ้น แต่พอนำมาปฏิบัติจริง กลับเป็นการทดแทนระบบเหมาจ่ายเดิม ทำให้หลายคนเดือดร้อนเพราะรายได้ลดลง

ประเด็นต่อมา คือ การเร่งรีบประกาศใช้โดยยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน รัฐมนตรีให้ข่าวว่าระบบยังปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ยังไม่ผ่านการไตร่ตรองและทดสอบอย่างรอบคอบ

นอกจากนี้ การจะออกกฎระเบียบอะไรออกมา ก็ควรจะต้องมีการทำความเข้าใจ หรือให้การอบรมสัมมนากับผู้ที่จะได้รับผลกระทบเสียก่อน จะได้ไม่ทำผิด หรือทำการใดๆ ที่ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการได้ค่าตอบแทนน้อยลง

ข้อสุดท้าย มีคนสงสัยว่าจะทำไปทำไม ทำแล้วนอกจากจะเปลืองงบประมาณมากขึ้นยังถูกต่อต้าน และยังมีคำถามที่ตอบไม่ได้อีกหลายข้อ n

นึกภาพไม่ออกว่าพีฟอร์พีจะวัดผลงาน   แพทย์แต่ละแขนงให้ยุติธรรมได้อย่างไร เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ก็ยากที่จะยุติธรรม

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 13 มิถุนายน 2556