ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เตือนผู้ปกครองปล่อยลูกอยู่ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กส่งผลเกิดอาการหลงตัวเอง ขี้กังวล ซึมเศร้า

กรมสุขภาพจิตจับมือ สสค.วางระบบดูแลเด็ก 0-5 ขวบ นำร่อง 4 จังหวัด หวังกระตุ้นไอคิวเกิน 100 ในปี 2559 หลังพบการส่งต่อข้อมูลไม่เป็นระบบ ทำให้เด็กมีปัญหาพัฒนาการอื้อ เตือนผู้ปกครองเลี้ยงลูกด้วยไอทีเสี่ยงง่อย อารมณ์ร้อน แถมติดไลน์-เฟซบุ๊ก เสี่ยงโรคจิต 3 อย่าง "หลงตัวเอง-ขี้กังวล-ซึมเศร้า" อนาคตไม่สามารถสร้างความสุขได้ด้วยตัวเอง

ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 มิถุนา ยนนี้ พญ.อัพพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวในงานแถลงข่าว "เด็กไทย  IQ เกิน 100" ว่า อัตราเกิดของเด็กไทยเฉลี่ยปีละ 8 แสนคน ตัวกำหนดสติปัญญา 50% คือพันธุกรรม และอีก 50% มาจากการเลี้ยงดู ยิ่งอายุน้อยช่วงปฐมวัย 0-5 ขวบ ยิ่งมีผลต่อการพัฒนาของเซลล์สมอง ทั้งนี้ ภาพรวมของเด็กเกิดใหม่ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการประมาณ 2.4 แสนคน คิดเป็น 30% แต่ถ้ารู้เร็วจะสามารถแก้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ หากปล่อยไว้ทุกอย่างจะยิ่งแย่ โดยเฉพาะปัจจุบันระบบการส่งต่อข้อมูลจากปฐมวัยเข้าสู่วัยประถมไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เด็กไม่ได้รับการติดตามดูแลอย่างถูกต้อง ครูก็ไม่รู้พื้นฐานของเด็ก มองว่าเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ โดยเฉพาะกลุ่มสมาธิสั้น ว่าเป็นเด็กก้าวร้าว เลี้ยงยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ยิ่งจะก่อให้ปัญหาสังคม เพราะเมื่อเด็กไม่ได้รับการยอมรับบนเวทีการศึกษา ก็จะออกไปแสวงหาการยอมรับบนเวทีนักเลง

 "พัฒนาการเด็กปฐมวัย 0-5 ขวบก็ล่าช้า ไอคิวก็ไม่น่าพอใจ ส่วนอีคิวก็ไม่ได้มากพอที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสุขได้ ดังนั้น สธ.จึงได้สนับสนุนด้านนโยบาย งบประมาณ เครื่องมือ ให้เขตบริการระดับภูมิภาคดูแลเด็ก" พญ.อัพพรกล่าว และว่า สังคมปัจจุบันคนรวยจัด รวยออกนอกหน้า เลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยี จะทำให้เด็กมีปัญหาการพูดไม่ชัด มือคล่องแต่ปัดหน้าจอ แต่อ่อนแรงเมื่อทำอย่างอื่น ขาก็วิ่งไม่ได้ ถ้าวิ่งก็ชอบหกล้ม เพราะแท็บเล็ตตรึงให้เด็กอยู่กับที่ นอกจากนี้ยังกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้อน

ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า เด็กปฐมวัยอายุตั้งแต่ 0-5 ขวบ จะมีสมุดพกสีชมพู แต่หลังจากเด็กเข้าสู่วัยประถมกลับไม่มีการส่งต่อข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ ทำให้ครูไม่สามารถดูแลเด็กที่มีปัญหาได้ ที่ผ่านมาพบว่าอัตราล้มเหลวทางการเรียนจะอยู่ในเด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 1 มากที่สุด ซึ่งเป็นระยะเชื่อมต่อระหว่างการเป็นเด็กประถมวัย หลุดจากการดูแล และถ้าหลุดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้เด็กเหล่านั้นมีปัญหาพัฒนาการไม่ดี อย่างเช่น เด็กสมาธิสั้น พบมากถึง 4-5% และเมื่อศึกษาข้อมูลเด็กในสถานพินิจก็พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 40% ขณะที่สถานพินิจของสหรัฐอเมริกาพบเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นสูงถึง 50% แสดงให้เห็นว่าตอนเด็กไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี จากเด็กสมาธิสั้นจึงกลายเป็นความก้าวร้าว สร้างปัญหา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้กว่า 90% สามารถรักษาให้หายขาดได้ช่วงมัธยมปลาย หากได้รับดูแลรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่ปฐมวัย

ดังนั้น สสค.ได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล จัดทำโครงการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ในการเชื่อมต่อข้อมูลและการให้บริการ เพื่อพัฒนาการและเชาว์ปัญญาในเด็กไทย นำร่อง 9 อำเภอใน 4 จังหวัด คือ เชียงราย สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา และภูเก็ต โดยมีเป้าหมายให้เด็กไทยมีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเกิน 100 ในปี 2559 จากปัจจุบันเด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.6% ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง

"ทุกวันนี้การถกเถียงเรื่องผลสอบโอเน็ต เอเน็ต เป็นการคลำเป้าผิด ที่จริงคือการกระตุ้นเด็กอย่างถูกวิธีในช่วงปฐมวัย เชื่อว่าภายใน 5-10 ปีนี้เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศอย่างแน่นอน อย่างโครงการนำร่อง คาดว่าเด็กที่มีปัญหาน่าจะลดลง อย่างน้อยไอคิวเฉลี่ยน่าจะเพิ่มขึ้นมาก กว่าปกติ อย่าคิดว่าเรื่องเด็กและเยาวชนไม่ได้ทำให้ใครตาย ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้สังคมค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ" ดร.อมรวิชช์กล่าว

ที่ปรึกษา สสค.กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขอให้ตนทำการศึกษาวิจัยให้คำแนะนำแก่ครอบครัว ว่าให้ลูกอยู่กับเทคโนโลยีแค่ไหนถึงจะเหมาะสม เพราะกำลังก่อปัญหาทำให้เด็กสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้ ส่วนตัวเห็นว่าครึ่งชั่วโมงต่อวันก็เพียงพอจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ต้องเตือนพ่อแม่ด้วยว่า การที่เด็กติดการสื่อสารทางโซเชียลเน็ตเวิร์กมากๆ เช่น เล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ จะก่อให้เด็กเกิดอาการทางจิต 3 แบบ คือ อาการหลงตัวเอง สนใจแต่ตัวเอง 2.โรคขี้กังวล อยู่ไม่สุข ต้องเช็กไลน์ตลอด กังวลว่าใครมาแสดงความคิดเห็นอย่างไร และ 3.โรคซึมเศร้า เพราะเมื่ออยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้วบางครั้งเด็กจะคาดหวังว่าจะได้รับสิ่งนั้น สิ่งนี้ เช่น คนจะต้องมากดชอบ กดไลค์สิ่งที่ตัวเองแสดงความคิดเห็นออกไป แต่เมื่อไม่มี หรือมีใครเข้ามาด่า ก็จะเกิดอาการเศร้าซึม ทั้ง 3 โรคนี้หากเป็นสะสมในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตไม่ดี ไม่สามารถสร้างความสุขด้วยตัวเองได้ ความสุขจะถูกควบคุมโดยคนอื่น

ที่มา: http://www.thaipost.net

เรื่องที่เกี่ยวข้อง