ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมอชนบทเปลี่ยนใจไม่ประท้วง นัดประชุมระดมความคิดเห็น ผอ.รพช.ทั่วประเทศ 20 มิ.ย. หลานยิ่งลักษณ์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชี้หมอเข้าใจผิด อาจเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ความคืบหน้าภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตามข้อสรุปการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างชมรมแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุข และ ผู้แทนรัฐบาล คือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการทำงานพัฒนาระบบค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เรียกประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ชมรมแพทย์ชนบทกลับไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมนั้น

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งแรกของกระทรวง เนื่องจากเดิมเข้าใจว่าเป็นกระทรวงจัด ไม่เป็นไปตามข้อตกลงเดิมที่มอบให้ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขานุการการประชุมร่วม 3 ฝ่าย เป็นประธาน แต่เมื่อทราบข้อเท็จจริง กลุ่มแพทย์ชนบทก็จะให้ความร่วมมือ จะเปลี่ยนจากการประท้วงหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เป็นการประชุมชี้แจงความคืบหน้าค่าตอบแทนและร่วมรับฟังความคิดเห็นจากทุกวิชาชีพ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดแนวทางพีฟอร์พีต่อไป ขณะนี้ได้ทำหนังสือเชิญไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งเชิญตัวแทนวิชาชีพต่างๆ ทั้งทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด กลุ่มบริหาร ฯลฯ มาร่วมประชุม เปลี่ยนสถานที่จากเดิมโรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต เป็นโรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ภายในศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ คาดว่าจะมี ผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน ในส่วนของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนน่าจะมาประมาณ 400 คน จากโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 738 แห่ง นอกนั้นเป็นวิชาชีพอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าการมาครั้งนี้จะผิดระเบียบข้าราชการหรือไม่ นพ.อารักษ์กล่าวว่า ไม่ระเบียบข้าราชการหรือไม่ นพ.อารักษ์กล่าวว่า ไม่ผิด เพราะเป็นการจัดประชุมระดมความคิดเห็น ได้ขอลาราชการกับทางจังหวัด ถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น เพื่อบรรยากาศของความปรองดองสมานฉันท์ คงไม่มีใครมาตรวจสอบการลาอีก

นพ.อารักษ์กล่าวอีกว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการพีฟอร์พี ทางเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายภาคประชาชน และสหภาพองค์การเภสัชกรรม ฯลฯ ได้เสนอตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการแล้ว ในการประชุมวันที่ 20 มิถุนายนนี้ จะรวบรวมประเด็นข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ เสนอต่อคณะกรรมการพีฟอร์พีชุดนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นข้อเท็จจริงต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.คณะกรรมการเยียวยา และปรับปรุงกฎระเบียบการสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสม และ 2.การปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติหลักเกณฑ์พีฟอร์พีให้สอดคล้องกับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนโดยตรง สิ่งสำคัญหลักเกณฑ์การทำพีฟอร์พีต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และหลักเกณฑ์นั้นต้องไม่เสี่ยงให้เกิดการทุจริตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย คือ หากทำอะไรไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ ก็อาจมีการฮั้วกัน เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากมีการปรับปรุงพีฟอร์พี โรงพยาบาลชุมชนเน้นส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะรับได้หรือไม่ นพ.อารักษ์กล่าวว่า เห็นด้วย แต่การทำพีฟอร์พีควรจ่ายเป็นทีมทำงานมากกว่ารายบุคคล เพราะจะทำให้ร่วมแรงร่วมใจมากกว่า

สำหรับรายชื่อในส่วนของแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเบื้องต้น มีดังนี้ 1.นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 2.นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 3.นพ.รอซารี ปัตยบุตย์ ผอ.รพ.รามัน จ.ยะลา 4.ทพ.วีระ อิสระธานันท์ หน.กลุ่มงานทันตกรรม รพ.แม่จัน จ.เชียงราย 5.ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ หน.กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 6.นางจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ หน.กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัว รพ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 7.นางวิลาวรรณ สมตน หน.กลุ่มงานการพยาบาล รพ.หลังสวน จ.ชุมพร 8.นายสรวิศ ม่วงมิตร หน.กลุ่มงานควบคุมวรรณ สมตน หน.กลุ่มงานการพยาบาล รพ.หลังสวน จ.ชุมพร 8.นายสรวิศ ม่วงมิตร หน.กลุ่มงานควบคุมโรคและอนามัยสิ่งแวดล้อม รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 9.นายอารักษ์ ดีใหม่ หน.กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ รพ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

10.นายชูเกียรติ เขียวแดง หน.ฝ่ายบริหารงานทั่วไป รพ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี 11.นาง จีรวรรณ ดนัยตั้งตระกูล นักกายภาพบำบัดชำนาญการ รพศ.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น 12.นายสุทัศน์ พลคชา หน.กลุ่มงานรังสีวิทยา รพ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 13.นายธนพล ดอกแก้ว รองประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และ 14.นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบทมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในเรื่องการเดินหน้าพีฟอร์พีที่เน้นความสมัครใจจริงหรือไม่ ล่าสุดยังโพสต์ข้อมูลกรณี น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางแพทย์ชนบทว่า เข้าใจ นพ.ประดิษฐผิด และนายกฯได้ให้ความสำคัญเดินหน้าอย่างเป็นธรรมแล้ว โดยข้อความระบุว่า "คุณแซน ชยิกา หลานของอาปูยิ่งลักษณ์ครับ ผมและเพื่อนแพทย์ชนบทได้อ่านบทความที่คุณแซนเขียนแล้ว ยินดีครับที่ได้แลกเปลี่ยนทาง facebook เรายืนยันว่าไม่ได้เข้าใจผิดครับ แพทย์ชนบทยืนยันว่าเราไม่ได้จ้องล้มรัฐบาล เราเข้าใจและเคารพในกติกาประชาธิปไตย แต่หากมีการฉ้อฉลสร้างความเสียหายต่อประเทศโดยเฉพาะต่อระบบสุขภาพ เราก็ออกมาแสดงความเห็น ออกมาเปิดโปง ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่แพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชนออกมาประท้วงอารยะขัดขืนมากมายยาวนานเท่านี้มาก่อน"

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวยังแนบบทความหัวข้อว่า "ระวัง เข้าใจผิด" โดย น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ซึ่งใจความสำคัญเป็นการเล่าเรื่องการประชุมร่วม 3 ฝ่ายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล และการเข้าใจผิดภายหลัง ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องดังกล่าว โดยใจความหนึ่งระบุว่า "เห็นทีคราวนี้ คงต้องใช้สำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า Lost in Translation หรือข้อมูลตกหล่น หลงทางระหว่างการตีความ จนทำให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างทางเป็นแน่ เพราะสรุปมติที่ประชุมในวันที่ 4 และ 6 มิถุนายน 2556 ทั้งหมดได้ถูกบันทึกเป็นเอกสารประกอบ 1-6 ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการแสดงเจตนาว่า 'ผู้แทนรัฐบาล' พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของ 'กลุ่มแพทย์ชนบท' อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะประนีประนอมเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 'ประชาชนผู้ให้บริการ' ที่ทำงานเสียสละ และ 'ประชาชนผู้รับบริการ' ผู้เจ็บป่วย ซึ่งงานนี้ไม่รู้อะไรเป็นอะไร เหตุใดจึงเกิดการเข้าใจผิด แต่ที่แน่ๆ เป็นห่วงว่า การเข้าใจผิดในครั้งนี้จะนำไปสู่การตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของคนบางกลุ่มที่ตั้งแง่เพื่อล้มรัฐบาลโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะหาทางออกร่วมกัน จริงๆ สักเท่าไร"

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--