ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จีนพบระเบิดเวลาลูกใหญ่ ประชากรวัยทำงานในประเทศลดจำนวนลงเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ในทางกลับกันยอดผู้สูงวัยกลับพุ่งพรวด พ่วงติดมาด้วยปัญหาผู้เฒ่ายากจน สุขภาพย่ำแย่ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งที่รอรัฐบาลปักกิ่งปลดชนวน

จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเริ่มบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวมาตั้งแต่ปี 2522 หรือเมื่อ34 ปีก่อน เพื่อควบคุมจำนวนประชากรขยายตัว แต่ผลที่ปรากฏในปัจจุบันก็คือ จีนกำลังมีแต่คนที่สูงวัยขึ้นและพากันย้ายไปอาศัยในเมือง อีกทั้งจำนวนประชากรเพศชายยังเพิ่มมากกว่าประชากรเพศหญิง

ไร้สมดุลประชากร

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2555) ว่า จำนวนประชากรจีนเพิ่มขึ้น 6,700,000 คน เป็น 1,354,000,000 คน ในปี 2555 ซึ่งไม่รวมประชากรในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเพศชายต่อเพศหญิงมีเฉลี่ยประมาณ 118 คนต่อ 100 คน ส่วนประชากรในวัยทำงานซึ่งมีอายุระหว่าง 15-59 ปี ลดลง 3,450,000 คน เหลือ 937,000,000 คน ขณะที่ประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 194,000,000 คน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า นอกเหนือจากปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งเป็นข้อวิตกกังวลสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการรักษาเสถียรภาพในสังคมแล้ว พรรคยังเผชิญกับสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการแก้ปัญหาประชากรสูงวัยที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว นายหม่า เจี้ยนถัง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ถือเป็นการลดจำนวนลงอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกสำหรับส่วนของประชากรในวัยทำงาน และคาดว่าจำนวนจะลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยที่สุดไปจนตลอดปี 2573

"สำหรับคนสูงวัยที่มีอายุมากขึ้น ชีวิตก็จะยากลำบากมากขึ้น"นายซวิ่น เหวินกวง นักวิชาการในวัยปลดเกษียณของมหาวิทยาลัยซานตง ในเมืองจี้หนานกล่าว "ค่าดูแลตลอด 24 ชั่วโมงต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในกรุงปักกิ่งอาจสูงถึงเดือนละ 7,000 หยวน แล้วจะหาเงินมาจัดตั้งกองทุนจากที่ไหน แรงงานเฉลี่ยในจีนมีรายได้ประมาณ 2,000 หยวนต่อเดือน แน่นอนว่าพวกเขาไม่ต้องการถูกแบ่งเงินรายได้ไปดูแลคนแก่"

นายเหลียง จงถัง นักวิจัยของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้มองว่า รัฐบาลจีนรีรอที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาการไร้ความสมดุลของประชากรเนื่องจากกลัวไปกระทบต่อนโยบายลูกคนเดียวทั้งที่การลดลงในเชิงโครงสร้างของแหล่งทรัพยากรแรงงานของประเทศเริ่มขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาประชากรที่มีอายุมากขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงานกำลังมีความรุนแรงในแถบชนบท แต่ผู้กำหนดนโยบายก็หาได้ใส่ใจไม่

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนยังเสริมว่า ประชากรจีนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 5 ในปี 2525 แต่ปัจจุบันมีถึงร้อยละ 14.3 ขณะที่จำนวนประชากรในเมืองเพิ่ม 21 ล้านคนเป็น 712 ล้านคนในปี 2555 ส่งผลให้การให้บริการต่าง ๆ ของรัฐตึงตัวขึ้น ส่วนประชากรในชนบทลดลง 14 ล้านคน เป็น 642 ล้านคนนอกจากนั้น ประชากรที่อาศัยในเมืองมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 26,959 หยวนต่อปี เทียบกับ 7,917 หยวนในชนบท

ปัญหาคนชรา "เจ็บป่วย ยากจน ย่ำแย่"

นอกจากผู้สูงวัยจะเพิ่มล้นแล้ว ล่าสุดผลการศึกษายังเผยออกมาอย่างน่าตกใจ พบว่า 1 ใน 3 ของผู้เฒ่าแผ่นดินใหญ่มีสุขภาพย่ำแย่ และ 1 ใน 4 ต้องปากกัดตีนถีบ มีรายรับต่ำกว่ามาตรฐานเส้นความยากจน รัฐบาลต้องหันมาพิจารณาเรื่องสถานที่รองรับสาธารณสุขคนแก่และผู้เกษียณอายุการทำงาน ก่อนที่ปัญหาจะรุนแรงไร้ทางเยียวยา

ผลการศึกษาด้านสาธารณสุขและผู้เกษียณอายุงานระยะยาวของจีน ได้ทำการสำรวจผู้สูงอายุวัย 45 ปีขึ้นไปใน 28 มณฑลของจีน จำนวน 17,708 คน พบว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายไต้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้คือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,433 หยวน ต่อปี

รายงานฉบับแรกเผยออกมาเมื่อ 31 พ.ค. โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า คนชราจีนเกือบร้อยละ 38 ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากแม้ในเรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตในแต่ละวันร้อยละ 24 ต้องการความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน และ 1 ใน 3 มีปัญหาทางสุขภาพ เจ็บป่วยทางร่างกาย ผลการตรวจร่างกายระบุว่า ผู้สูงอายุร้อยละ54 เป็นความดันโลหิตสูง โดยที่ยังไม่ได้ทำการวินิจฉัยหรือพบแพทย์คิดเป็นร้อยละ 40 หรือมีจำนวนเท่ากับ 40 ล้านคน     หญิงชรามีปัญหาความเจ็บปวดทางด้านสุขภาพจิตจำนวนมาก โดยพบว่าหญิงชราจำนวนกว่าร้อยละ 48 และชายชราร้อยละ 32 มีปัญหาซึมเศร้า เช่น นอนไม่หลับรู้สึกหวาดกลัว ระแวงฯ ทั้งนี้ จำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดพบว่าร้อยละ 40 มีอาการซึมเศร้าเหงาหงอย ซึ่งคิดเป็นจำนวนจริง 74 ล้านคน

อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของความขาดแคลนสถานที่อำนวยดูแลสุขภาพกายและใจผู้สูงอายุในเมืองสำคัญของจีน เป่ยจิง อิฟนิ่งนิวส์ รายงานไม่นานมานี้ว่า ในบ้านพักสวัสดิการคนชราหมายเลข 1 กรุงปักกิ่งมีเตียงจำนวน 1,100 เตียง ทว่ามีผู้สมัครมาอยู่มากถึง 10,000 คน ทั้งนี้ ประชากรวัยชราที่อาศัยแยกจากลูกหลานในกรุงปักกิ่งมีมากถึง 450,000 คนทว่ามีสถานพยาบาลคนแก่ของภาครัฐเพียง 215 แห่งและของเอกชนอีก 186 แห่ง เฉลี่ยแล้วเตียงที่จะรองรับคนแก่ 3 เตียง ต่อ 100 คน

ศาสตราจารย์จอห์น สเตราส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และผู้อำนวยการการสำรวจในครั้งนี้เผยว่า ประชากรแผ่นดินใหญ่กำลังเสียสมดุลและย่ำแย่ลง เมื่อพิจารณาจำนวนคนกับมาตรการด้านสาธารณสุขที่รองรับ เทียบกับอเมริกา และอังกฤษไม่ติดฝุ่น

ในสหรัฐฯ ประชากรวัยชรา 65 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาด้านการดำรงชีวิตประจำวันมีประมาณร้อยละ 26 เท่านั้น ซึ่งหากสำรวจในจีนโดยใช้มาตรฐานตามสหรัฐฯที่นิยามว่า ผู้สูงอายุคือวัย 65 ปีขึ้นไปปัญหาที่ตามมาจะพบว่าเลวร้ายกว่าการสำรวจในครั้งนี้มากนัก

อัลเบิร์ต์ ปาร์ค ผู้อำนวยการโครงการวิจัยอีกคนและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงเผยว่า ปัญหาใหญ่ท้าทายคือจะทำอย่างไรจึงสามารถสร้างสถานที่รองรับดูแลปัญหาด้านสุขภาพให้แก่ผู้เฒ่าที่ต้องการความช่วยเหลือนอกจากนั้นสถานพยาบาลยังต้องทำงานให้เป็นระบบ จัดการดูแลเรื่องการประกันสุขภาพ การวินิจฉัย ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของผู้สูงวัย พร้อมกับการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงวัยในขณะเดียวกันด้วยก็ดี การสำรวจจะเดินหน้าต่อไปในช่วงปีข้างหน้าและข้อมูลสำคัญเหล่านี้จะได้กลายเป็นฐานต่อการกำหนดนโยบายและเป็นคุณูปการต่อวงวิชาการในการทำความเข้าใจปัญหาสังคม อันส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการเมืองแดนมังกรอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์  ฉบับวันที่ 15 - 21 มิ.ย. 2556