ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D) เปิดเผยว่าจากการที่โครงการ "Bangkok Tenofovir study" ได้ออกมาแถลงผลการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพในการใช้ยาต้านไวรัสทิโนโฟเวียร์ (Tenofovir) ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีด (Injection Drug User-IDU) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 มีผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการนี้ทั้งสิ้น 2,413 คน ติดเชื้อเอชไอวีระหว่างโครงการศึกษาวิจัย 50 คน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เฉลี่ย 49% สำหรับผู้ที่กินยาอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เกณฑ์การกินยาต่อหน้า (directly observed therapy) ติดต่อกันอย่างน้อย 71% ของวัน และขาดการกินยาไม่เกิน 2 วันติดต่อกัน และมียาตกค้างในร่างกายที่สามารถตรวจวัดได้ ประสิทธิผลการป้องกันเท่ากับ 74% นับเป็นอีกความก้าวหน้าหนึ่งของการพัฒนาหาทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า PrEP (เพรป) และนับเป็นข่าวดีเนื่องในเดือนที่จะมีวันต่อต้านยาเสพติดสากล คือวันที่ 26 มิถุนายน นี้ แต่ภาคประชาสังคมมีประเด็นห่วงกังวลหลายเรื่อง

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าวว่า “การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) แบบรอบด้าน ควบคู่ไปกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญในการป้องกันเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีการฉีด การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสเชื้อหรือ PrEP ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด (IDU) นี้เป็นเครื่องมือทางเลือกที่ต้องใช้ผสมผสานกับมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) ไม่ใช่เอามาแทนเรื่องการแลกเปลี่ยนเข็มหรืออุปกรณ์สะอาด หรือไปทดแทนโปรแกรมการบำบัดด้วยสารทดแทน เพราะ PrEP เป็นวิธีการเฉพาะเจาะจงอุดช่องว่างหรือรอยต่อ (niche intervention) สำหรับผู้ใช้ยาบางคนที่ไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้ โดยเฉพาะวิธีการ Harm Reduction นอกจากนั้นแล้วผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีดก็ยังมีเพศสัมพันธ์เช่นกันจึงไม่สามารถแยกได้ว่าการติดเชื้อเอชไอวีนั้นมาจากเพศสัมพันธ์หรือจากการใช้ยาเสพติด ดังนั้นยุทธศาสตร์ PrEP ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการแลกเปลี่ยนเข็มหรืออุปกรณ์สะอาด หรือโปรแกรมการบำบัดด้วยสารทดแทน

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการโครงการทดลองในสภาพความเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ว่าหากเอา PrEP มาใช้กับผู้ใช้ยาแล้ว จะสามารถทำได้จริง (มิใช่อยู่ภายใต้ระบบบำบัดยาเสพติด) และแสดงถึงกลไกการเงิน/งบประมาณสำหรับจัดสรรยา เพื่อไม่ให้นำงบเกี่ยวกับการรักษามาใช้ในการป้องกัน และให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำมาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด(Harm Reduction) ที่รอบด้าน (ประกอบด้วยชุดบริการ 10 บริการ) ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์มาดำเนินการให้เป็นจริงทันที เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีด โดยให้มีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้ใช้ยา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง

“พวกเราเครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด หรือ เครือข่าย 12D ขอขอบคุณอาสาสมัครในโครงการนี้ทุกคนที่มีส่วนสำคัญต่อผลการศึกษาวิจัยครั้งสำคัญนี้ อย่างไรก็ตามพวกเราขอย้ำและขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนัก และดำเนินการเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีดในประเทศไทยบนพื้นฐานของการศึกษาวิจัย ข้อมูลเชิงประจักษ์ ยุทธศาสตร์ PrEP เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างรอบด้านรวมถึงวิธีการทางชีวเวชศาสตร์ (biomedical interventions) วิธีการทางพฤติกรรมศาสตร์ (behavioral interventions) และวิธีการที่เกี่ยวกับโครงสร้างและระบบ (structural interventions) ซึ่งหมายรวมถึงวิธีการเกี่ยวกับกฏหมาย/ระบบ/โครงสร้างและสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค ตลอดจนทัศนคติทางลบต่อผู้ใช้ยาเสพติดของสังคมและผู้ให้บริการ”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง