ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยยอดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่พุ่งถึง 3 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งออกมารณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันโรค ไม่เพียงแต่มีมติ ครม.ที่สั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ แต่ยังได้มีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกทุกจังหวัดทั่วประเทศ ล่าสุดมีรายงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแล้ว 43,609 ราย เสียชีวิตถึง 50 ราย นับเป็นจำนวนที่สูง

โรคไข้เลือดออกเป็นที่ทราบกันดีว่ามียุงลายเป็นพาหะนำโรค ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่คุ้นเคยกันดี ไม่แต่เฉพาะประเทศไทย แต่รวมถึงภูมิภาคนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดความตระหนักในการระมัดระวังและป้องกันโรค โดยโรคนี้แม้ว่าจะเป็นโรคที่ดูไม่ร้ายแรงและรักษาให้หายได้ แต่หากผู้ป่วยซึ่งมีอาการเหล่านี้ ได้แก่ ไข้สูง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง หากนิ่งนอนใจและไม่รีบพบแพทย์เพื่อรักษาภายใน 3-4 วัน อาจทำให้เกิดภาวะโรคที่รุนแรง จนกระทั่งมีโอกาสถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้

ดังนั้น จำเป็นที่ทุกคนต้องช่วยกันตระหนัก ไม่แต่เฉพาะการเฝ้าระวังโรค แต่รวมถึงการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ ขอเพียงแค่ทุกคนช่วยกันใส่ใจ คือ การปฏิบัติตาม 5 ป. 1 ข. ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศปฏิบัติกันทุกปีในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ทั้งการปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ การเปลี่ยนน้ำแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำกลายเป็นยุง การปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ในภาชนะใส่น้ำถาวร  ตามด้วยการปรับปรุงทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักยุงลาย การให้ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และขัดล้างไข่ยุงลายตามผนังภาชนะ ทำทุกที่ ทั้งในบ้าน คอนโด สำนักงาน ศาสนสถาน โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ หากไม่มีลูกน้ำยุงลาย โรคไข้เลือดออกก็จะหมดไป

ส่วนความหวัง "วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก" นั้น คาดว่าคงจะมีการผลิตออกมาให้ได้ใช้กันเร็วๆ วันนี้ ภายหลังจากที่ศูนย์วิจัยพัฒนาวัคซีน สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยในขั้นทดลองจนสำเร็จ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และได้ส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตให้กับเอกชนเพื่อทำการผลิตในระดับขั้นอุตสาหกรรม โดยขณะนี้มีบริษัทเอกชนจาก 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ได้เข้าทำการติดต่อและลงนามเซ็นสัญญาเพื่อทำการทดลองผลิตในขั้นอุตสาหกรรมแล้ว คาดว่าแต่ละปีจะมีความต้องการใช้วัคซีนนี้ถึงปีละ 300 ล้านโด๊ส

สำหรับประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการรอผลการทดลองในเฟสที่ 3 เพื่อดูผลการตอบสนองในอาสาสมัครเพิ่มเติม แม้ว่าจะมีการเตรียมโรงงานผลิตไว้แล้ว เนื่องจากยังมีปัญหาการตอบสนองของเชื้อไข้เลือดออกในสายพันธุ์ที่ 2 จากทั้งหมด 4 สาย เพราะเกรงว่าหากไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันทั้ง 4 สายพันธุ์ อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาได้ เป็นข้อกังวลเชิงการแพทย์ จึงยังไม่สามารถเดินหน้าผลิตวัคซีนได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการผลิตวัคซีนไข้เลือดออกมาใช้ในการป้องกัน แต่หากทุกคนร่วมกันทำตามยุทธศาสตร์ 5 ป. 1 ข. เชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกระบาดลงได้ โดยเฉพาะการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและผู้เสียชีวิต

ในช่วง 2 เดือนจากนี้ กรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุด และปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ทุกคนต้องพร้อมใจกันปฏิบัติทำทุกบ้านเรือน--จบ--

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com