ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายพชร แกล้วกล้า ฝ่ายสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคและพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอภิปรายเรื่อง "ความไม่ปลอดภัยของอาหารจากอุตสาหกรรมอาหาร" ในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 ว่า อาหารไม่ปลอดภัยตาม พ.ร.บ. พ.ศ.2522 แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.อาหารไม่บริสุทธิ์ คือ อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตราย เก็บรักษาอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น 2.อาหารปลอม คือ อาหารมีการคัดแยกวัตถุที่มีคุณค่าออก 3.อาหารผิดมาตรฐาน แต่ไม่ถึงขนาดอาหารปลอม และ

4.อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด เช่น ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศว่า ชาเจสัน เป็นอาหารไม่ปลอดภัย เป็นต้น โดยความเสี่ยงที่ทำให้อาหารไม่ปลอดภัยมีทั้งด้านกายภาพ เคมี ชีวภาพ และโภชนาการที่ไม่เหมาะสม

"ปัจจุบันพบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่จำหน่ายในประเทศไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมอาหารที่การผลิตเนื้อสัตว์หรือเนื้อสัตว์แปรรูปมีความเสี่ยงในการได้รับสารกันบูด สี บอแรกซ์ และฟอร์มาลิน ขณะที่อาหารแห้งก็มีความเสี่ยงได้รับสารฟอกขาว สี ยาฆ่าแมลง ส่วนกรณีผักผลไม้ก็เสี่ยงต่อการได้รับสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช กว่า 2 ใน 3 ของอาหารแช่แข็ง ก็มีการแสดงฉลากชื่ออาหารที่ทำให้สับสน ไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบ และมีการโฆษณาผิดกฎหมาย โอ้อวดสรรพคุณให้เข้าใจผิดจากความเป็นอาหารมีสูงร้อยละ 96" นายพชรกล่าว

นายพชรกล่าวด้วยว่า ตัวอย่างของอุตสาหกรรมอาหารที่ทำให้อาหารไม่ปลอดภัย เช่น สารกันบูดในขนมปัง ซึ่งจากการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารฉลาดซื้อพบว่า ขนมปังที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ 1 ใน 3 มีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน ผลิตภัณฑ์น้ำชาเขียวก็มีความเสี่ยงได้กาเฟอีนและน้ำตาลมากจนเกินไป เป็นเรื่องของโภชนาการที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ ตนยังเคยพบกรณีข้าวเหนียวหมูย่างที่ฉลากระบุว่ามีไก่เป็นส่วนผสมด้วย การซื้ออาหารทุกวันนี้จึงยังเป็นการวัดดวง การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การอ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง

ที่มา : นสพ.ข่าวสด วันที่ 18 มิถุนายน 2556