ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่โรงแรมไมด้า ซิตี้ รีสอร์ท กรุงเทพฯ นางทัศนัย ขันยาภรณ์ ที่ปรึกษาโครงการประจำองค์กรแพธ ประเทศไทย กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความเข้มแข็งงานขับเคลื่อนด้านความเป็นธรรมทางเพศ : ประสบการณ์จากเพื่อนบ้านอาเซียนว่า สังคมไทยไม่ยอมพูดเรื่องทำแท้ง สิ่งที่ตามมาคือ การไม่เรียนรู้เทคโนโลยี การยุติการตั้งครรภ์ที่ทันสมัย แม้แต่การขูดมดลูกที่องค์การอนามัยขอให้ยกเลิกนานแล้ว แต่ยังพบว่าไทยยังใช้วิธีนี้อยู่ กฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ในทางปฏิบัติน้อยมาก

องค์กรสตรีในประเทศไทยได้พยายามผลักดันการให้บริการปรึกษาทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ทางสายด่วนศูนย์ประชาบดี 1300 เพื่อประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศ ส่วนการยุติการตั้งครรภ์ก็จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประมวลกฎหมายอาญาและข้อบังคับแพทยสภา 6 ข้อ คือ 1.ผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพกาย 2.ผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพใจ 3.ครรภ์มีความผิดปกติ 4.ผู้หญิงถูกข่มขืน 5.ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 6.ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

น.ส.นินุก วิดยานโตโร นักจิตวิทยา และนักสิทธิสตรีจากประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ปี 2552 ประเทศอินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายที่เอื้อต่อการทำแท้งที่ปลอดภัย และขณะนี้ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำร่างระเบียบเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้หญิงสิทธิที่จะเลือกว่าจะตั้งครรภ์ต่อไปหรือจะยุติตั้งครรภ์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปพบแพทย์

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 20 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--