ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'หมอประดิษฐ'แบ่งรับแบ่งสู้ 'พีคิวโอ'ชี้เป็นเรื่องรายละเอียด ส่วน'พีฟอร์พี'คือหลักการ ด้านหมอชนบทเล็งเสนอหลักเกณฑ์จ่ายเงินฉบับ 10.1 เพิ่มให้วิชาชีพพยาบาล ธุรการ การเงิน ลดเหลื่อมล้ำ

ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขที่มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับการจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์จากการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance: P4P) เป็นจ่ายตามคุณภาพงาน หรือพีคิวโอ (Pay for Quality and Outcome: PQO) ขณะเดียวกันจะเรียกประชุมคณะทำงานร่วมทั้งชมรมแพทย์ชนบท โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในวันที่ 21 มิถุนายนนี้

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ว่า หากเข้าใจในหลักการของคำว่า Performance ก็ไม่มีปัญหา เพราะในเรื่องของวิธีทำอย่างที่โรงพยาบาลชุมชนเสนอถือว่าถูกต้อง เพราะการทำพีฟอร์พีต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพงานที่ได้รับ และผลลัพธ์ที่จะเกิดกับประชาชนผู้รับบริการ ดังนั้น ในรายละเอียดจะเป็นชื่ออะไรก็ไม่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทเสนอร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้เป็นฉบับที่ 10 ซึ่งนำเนื้อหาจากหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโรงพยาบาลชุมชนฉบับ 4 และ 6 มาปรับปรุงว่าทำได้หรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ต้องอยู่ที่คณะทำงานจัดทำข้อเสนอพิจารณา เนื่องจากจะมีจากหลากหลายวิชาชีพ แต่โดยหลักเนื่องจากจะมีจากหลากหลายวิชาชีพ แต่โดยหลักต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในแต่ละวิชาชีพ ที่สำคัญเงินที่ได้รับต้องไม่น้อยกว่าเดิมเมื่อมีการจ่ายตามพีฟอร์พีแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม แต่หลักการยังเหมือนเดิม โดยทุกคนต้องอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน คือ มีการวัดผลการปฏิบัติงาน ส่วนจะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละส่วน ซึ่งสามารถจ่ายได้ทั้งบุคคล และจ่ายได้ในลักษณะทีม ต้องหารือในคณะทำงานจัดทำข้อเสนอ เพราะต้องเข้าใจว่าเมื่อนำงบประมาณมาใช้ต้องมีการวัดผล เพื่อประเมินความคุ้มค่าของการใช้งบนั้นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในประเด็นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำและไม่ทำพีฟอร์พี

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา รู้สึกไม่สบายใจในประเด็นการเยียวยาที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถเยียวยาได้ทันทีหรือไม่ เนื่องจากนโยบายพีฟอร์พีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จนบัดนี้ยังไม่มีการจ่ายเงิน ในส่วนโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้รับค่าตอบแทนตามเดิม ได้ขอให้นายคณิศให้คำมั่นสัญญา แต่ก็ไม่ยืนยัน ขณะที่เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน โรงพยาบาลชุมชนเสนอให้เป็นไปตามฉบับที่ 10 นำเนื้อหาฉบับ 4 และ 6 มาปรับปรุงนั้น ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งๆ ที่ในเนื้อหาได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่โรงพยาบาลให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น โรงพยาบาลกันดารน้อย กันดารมาก หรืออยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง ทั้งหมดได้ปรับลดเงินที่จะต้องให้แพทย์ ทันตแพทย์ ฯลฯ ร้อยละ 30 หรือประมาณ 500 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ใช้ฉบับ 10 ซึ่งอิงเนื้อหาจากฉบับ 4 และ 6 จะส่งผลต่อวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะพยาบาลหรือไม่ เนื่องจากได้รับเงินน้อยเหมือนเดิมคือ ทำงานเริ่มแรกได้ค่าตอบแทนเพียง 1,200 บาทต่อเดือน นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า มีการพูดคุยกับวิชาชีพพยาบาลแล้ว โดยจะเสนอในการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอให้มีร่างแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมฉบับ 10.1 ให้กับวิชาชีพพยาบาล และสายอาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาลได้รับเงินค่าตอบแทนเริ่มต้นที่เดือน10.1 ให้กับวิชาชีพพยาบาล และสายอาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาลได้รับเงินค่าตอบแทนเริ่มต้นที่เดือนละ 1,800 บาท ส่วนบุคลากรอื่นๆ ที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญา เช่น ธุรการหรือการเงิน จะได้รับจากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาท เป็นต้น ทั้งหมดเป็นแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอผลการประชุมคณะทำงานเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ในการประชุมใหญ่บุคลากรโรงพยาบาลชุมชนวันที่ 20 มิถุนายน ที่โรงแรมเซนทรา และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการฯ หรือไม่ นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า แน่นอน โดยจะพูดในภาพรวมทั้งหมด ทั้งเรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องค่าตอบแทน การเยียวยา และพีฟอร์พี อยู่ที่บุคลากรโรงพยาบาลชุมชนว่าพอใจหรือไม่ ส่วนแนวทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ขอให้รอสรุปผลการประชุมวันที่ 20 มิถุนายนนี้

ขณะที่ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในการประชุมบุคลากรสาธารณสุขโรงพยาบาลชุมชน จะมีการประกาศจุดยืนเรียกร้องให้คณะทำงานจัดทำข้อเสนอดำเนินการเรื่องการเยียวยาผลกระทบจากพีฟอร์พีภายในเดือนมิถุนายนนี้ หากไม่ดำเนินการคงต้องมีการพิจารณาถึงแนวทางเคลื่อนไหวต่อไป

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ การเสนอให้ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินที่อิงฉบับ 4 และ 6 โดยเปลี่ยนชื่อเป็นฉบับ 10 แทน อาจส่งผลกระทบต่อวิชาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะพยาบาล เพราะในฉบับ 4 และ 6 ได้รับค่าตอบแทนน้อยเริ่มที่เดือนละ 1,200-1,800 บาทเท่านั้น

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 21 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--