ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ดีเอสไอ" สรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช. ไต่สวนหมอวิชัย-หมอวิทิต ระบุแบ่งซื้อแบ่งจ้างโครงการปรับปรุงโรงงานผลิตยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชเข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้วประมูล วงเงิน 70 ล้านบาท แต่มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว

นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เปิดเผยผลการสืบสวน กรณีการปรับปรุงโรงงานผลิตยาเม็ดกลุ่มที่มีความต้องการสูง (Mass Production) ของ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยส่งสำนวนการสอบสวนให้ป.ป.ช.ไต่สวน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ.อภ. และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการบริหาร อภ. เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล จากการแบ่งซื้อแบ่งจ้างโครงการปรับปรุงโรงงานดังกล่าวจากเดิมวงเงินกว่า 70 ล้าน แต่ อภ.เปิดประมูลมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว โดยมีวงเงินสูงกว่าราคากลางประมาณ 7 ล้านบาท อภ.จึงต้องยกเลิกการประมูล และเปลี่ยนมาประมูลแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ โครงการปรับปรุงอาคารพิกุล วงเงินกว่า 33 ล้านบาท กับโครงการปรับปรุงอาคารตอกและเคลือบเม็ดยา วงเงินกว่า 76 ล้านบาท ดีเอสไอ มองว่าการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ก็เพื่อให้อำนาจในการอนุมัติจัดจ้างเป็นของ ผอ.อภ. และประธานบอร์ด "จากการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าบอร์ด อภ. ได้มีการอนุมัติแผนให้ อภ.ดำเนินการปรับปรุงขบวนการผลิต โดยวิธีพิเศษวงเงิน 109,280,000 บาท แต่บอร์ดได้มีการกำหนดราคากลาง เป็นเงิน 70,926,192.86 บาท ซึ่งหากผลการจัดจ้างโครงการดังกล่าวอยู่ในกรอบวงเงินราคากลาง อำนาจในการอนุมัติในการจัดจ้างจะอยู่ที่บอร์ดอภ. ดังนั้น อภ.จึงยกเลิก แยกเป็น 2 รายการ เพื่อให้มีอำนาจในการอนุมัติ" นายธานินทร์ กล่าว

ผลการสืบสวนโรงงานยาพาราฯ

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้แถลงผลการสืบสวนกรณีการปรับปรุงโรงงาน Mass Production  ของ องค์การเภสัชกรรม   โดยในกรณีที่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้พิจารณา และมีมติอนุมัติงบประมาณ เพื่อการลงทุนในแผนงานปรับปรุงขบวนการผลิตในการผลิตยาเม็ดกลุ่มที่มีความต้องการสูง (Mass Production) ประกอบด้วย อาคารตอกและเคลือบยาเม็ด อาคารบรรจุยาเม็ดและอาคารควบคุมคุณภาพ เครื่องจักร และครุภัณฑ์พร้อมอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ วงเงิน 109,280,000 บาท  โดยคณะกรรมการกำหนดราคากลาง  ได้กำหนดราคากลางเป็นเงิน 70,926,192.86บาท

ส่วน องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการจัดหาโดยวิธีพิเศษ ปรากฏว่า มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว โดยเสนอราคาเป็นเงิน 77,880,000 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่าราคากลาง องค์การเภสัชกรรม  จึงได้ยกเลิกการจัดหาดังกล่าว ต่อมาองค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ (ครั้งที่ 2) โดยแยกการดำเนินการ 2 รายการ ดังนี้  การปรับปรุงอาคารพิกุล เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพยา วงเงิน 33,130,000 บาท ปรากฏว่า บริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุดเสนอราคา เป็นเงิน 24,950,000 บาท องค์การเภสัชกรรม โดยนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดจ้างจากบริษัทดังกล่าว โดยมีนายแพทย์ วิทิต อรรถเวชกุล เป็นผู้ลงนามในสัญญา

ส่วนรายการที่ 2 คือ รายการปรับปรุงอาคารตอกและเคลือบยาเม็ด วงเงิน 76,830,000 บาท ปรากฏว่าบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด เสนอราคาเป็นเงิน 45,800,000 บาท องค์การเภสัชกรรม โดยประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดจ้างบริษัทดังกล่าว โดยมี นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล เป็นผู้ลงนามในสัญญา จากการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้มีการอนุมัติแผนให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการปรับปรุงขบวนการผลิตในการผลิตยาเม็ดกลุ่มที่มีความต้องการสูง (Mass Production) ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษวงเงิน 109,280,000 บาท

โดยคณะกรรมการได้มีการกำหนดราคากลางในโครงการดังกล่าว เป็นเงิน 70,926,192.86 บาท ซึ่งหากผลการจัดจ้างโครงการดังกล่าวอยู่ในกรอบวงเงินราคากลาง อำนาจในการอนุมัติในการจัดจ้างจะอยู่ที่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แต่องค์การเภสัชกรรมได้มีการยกเลิกการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษดังกล่าวและได้ดำเนินการจัดจ้างแยกเป็น 2 รายการ  ดังนั้น กรณีนี้จึงเห็นได้ว่าการจัดจ้างโครงการโดยวิธีพิเศษครั้งแรก ซึ่งหากดำเนินการตามแผนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม การดำเนินการอนุมัติในโครงการดังกล่าว จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม วงเงินเกิน 50 ล้านบาทแต่เมื่อกรณีนี้ได้มีการแบ่งจ้างออกมาเป็น 2 รายการ จึงเป็นเหตุทำให้การอนุมัติโครงการดังกล่าว  อยู่ที่อำนาจของผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม วงเงินไม่เกิน 25 ล้านบาท

และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม วงเงินเกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อบังคับองค์การเภสัชกรรม ว่าด้วยการพัสดุปี 2524  ข้อ 49  และอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กล่าวคือ เป็นการดำเนินการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และการกระทำดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ชี้ทำงานขัดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นอกจากนี้ การที่นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ได้อนุมัติจัดจ้างปรับปรุงอาคารตอกและเคลือบยาเม็ด ทั้งที่ควรทราบว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้มีการอนุมัติแผนจากคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมซึ่งควรมีการจัดจ้างทั้งโครงการ ประกอบกับนายแพทย์วิชัยฯ มีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของฝ่ายบริหารขององค์การเภสัชกรรม ในขณะที่มีการอนุมัติแต่กับไม่ท้วงติงถึงการดำเนินการแยกออกมาเป็น 2 สัญญา อันเป็นเหตุทำให้อำนาจการอนุมัติการจัดจ้างเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิด ตามมาตรา 157  แห่งประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2556  กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ส่งผลการสืบสวนดังกล่าวให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 มิถุนายน 2556