ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ- กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รอง ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการทุจริต ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนกรณีการปรับปรุงโรงงาน Mass Production ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) สรุปผลการสืบสวนเสนอนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนี้

ประเด็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ปรากฏข้อเท็จจริง ว่า 1.คณะกรรมการ อภ.พิจารณาและมีมติอนุมัติงบประมาณ เพื่อการลงทุนในแผนงานปรับปรุงขบวนการผลิตยาเม็ดกลุ่มที่มีความต้องการสูง Mass Production วงเงินลงทุน 198,580,000 บาท 2.อภ.ได้รับอนุมัติแผนปรับปรุงขบวนการผลิตในการผลิตยาเม็ดกลุ่ม Mass Production วงเงินลงทุน 198,580,000 บาท จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย สิ่งก่อสร้าง 3 รายการ คือ อาคารตอกและเคลือบยาเม็ด อาคารบรรจุยาเม็ด และอาคารควบคุมคุณภาพ เครื่องจักร และครุภัณฑ์พร้อมอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ

3.อภ.ได้ขออนุมัติจ้างปรับปรุงโรงงาน Mass Production จำนวน 9 รายการ โดยมีการปรับปรุง อาคารตอกและเคลือบยาเม็ด อาคารบรรจุยาเม็ด และปรับปรุงอาคารพิกุล เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพยา วงเงิน 109,280,000 บาท 4.คณะกรรมการกำหนดราคากลาง พิจารณาราคากลาง โครงการ Mass Production โดยกำหนดราคากลาง 70,926,129.86 บาท 5.อภ.จัดหาโดยวิธีพิเศษ ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคารายเดียวคือ บริษัทคลีนแอร์ โปรดักท์ จำกัด ราคา 77,880,000 บาท และบริษัทลดให้เหลือ 77,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคากลาง อภ.จึงยกเลิกการเสนอราคา

ต่อมา อภ.จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ (ครั้งที่ 2) แยกการดำเนินการ ดังนี้ 1.ปรับปรุงอาคารพิกุล เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพยา วงเงิน 33,130,000 บาท ปรากฏว่า บริษัท ภาวิวัฒน์ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 24,950,000 บาท อภ.โดย นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.อนุมัติจัดจ้าง และ นพ.วิทิตลงนามในสัญญา 2.ปรับปรุงอาคารตอกและเคลือบยาเม็ด 76,830,000 บาท ปรากฏว่าบริษัทวินด์ซิลล์ จำกัด เสนอราคา ต่ำสุด 45,800,000 บาท อภ.โดยประธานกรรมการ อภ. นพ.วิชัย โชควิวัฒน อนุมัติจัดจ้าง โดยมี นพ.วิทิตลงนามในสัญญา

กรณีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการ อภ. ได้อนุมัติแผนให้ อภ.ปรับปรุงขบวนการผลิตยาเม็ดกลุ่ม Mass Production ซึ่ง อภ.จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ มีการปรับปรุงอาคารวงเงิน 109,280,000 บาท โดยคณะกรรมการกำหนดราคากลาง 70,926,192.86 บาท ซึ่งหากผลจัดจ้างอยู่ในกรอบราคากลาง อำนาจอนุมัติจัดจ้างจะอยู่ที่ อภ. ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ อภ. มีอำนาจอนุมัติเกินกว่า 50 ล้านบาท ตามข้อบังคับ อภ.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2524 ข้อ 49

ต่อมา อภ.ได้ยกเลิกการจัดจ้างโดยวิธีการพิเศษ เนื่องจากบริษัทเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง และเห็นสมควรจัดจ้างแยกเป็น 2 รายการ โดย อภ.จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ ปรับปรุงอาคารพิกุล เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพยา วงเงิน 33,950,000 บาท ปรากฏว่า บริษัท ภาวิวัฒน์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 24,950,000 บาท อภ.โดย นพ.วิทิตลงนามในสัญญา และปรับปรุงอาคารตอกและเคลือบยาเม็ด 76,830,000 บาท ปรากฏว่าบริษัทวินด์ซิลล์ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 45,800,000 บาท อภ.โดย นพ.วิชัยได้อนุมัติให้จัดจ้าง โดยมี นพ.วิทิตลงนามสัญญา

จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษครั้งแรก หากดำเนินการตามแผนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ อภ. การดำเนินการอนุมัติโครงการดังกล่าว จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ อภ. แต่กรณีนี้แบ่งจ้างเป็น 2 รายการ จึงเป็นเหตุทำให้การอนุมัติโครงการอยู่ที่อำนาจของ ผอ.อภ.และประธานกรรมการ อภ. ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2524 ข้อ 49 และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 กล่าวคือ เป็นการดำเนินการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าเสนอราคารายใดให้มีสิทธิทำสัญญา และอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อาญา มาตรา 157

นอกจากนี้ การที่ นพ.วิชัยอนุมัติจัดจ้างปรับปรุงอาคารตอกและเคลือบยาเม็ด ทั้งที่ควรทราบว่าเป็นโครงการที่มีการอนุมัติแผนจากคณะกรรมการ อภ.ซึ่งควรมีการจัดจ้างทั้งโครงการ ประกอบกับ นพ.วิชัยมีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของฝ่ายบริหารของ อภ. ในขณะที่มีการอนุมัติแต่กลับไม่ท้วงติงถึงการดำเนินการแยกออกเป็น 2 สัญญา อันเป็นเหตุทำให้อำนาจการอนุมัติจัดจ้างเปลี่ยนแปลงไป อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ส่วนประเด็นการแก้ไขสัญญา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อภ.แก้ไขสัญญาให้บริษัทผู้รับจ้าง เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขแบบและมีเหตุขยายสัญญา เนื่องจากอุทกภัย ตามมติ ครม. ซึ่งเป็นเหตุที่สามารถจะแก้ไขสัญญาและขยายอายุสัญญาได้ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2524 ข้อ 59 ซึ่งเป็นอำนาจของ อภ.ที่จะต้องพิจารณาตามข้อบังคับ

อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเห็นสมควรส่งผลการสืบสวนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และแจ้งผลการสืบสวนให้กระทรวงสาธารณสุขทราบต่อไป

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 22 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--