ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลโวยร่างข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนฉบับ 10 ของแพทย์ชนบทเสนอปรับค่าตอบแทนพยาบาลเพิ่มแค่ 500-700 บาทไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ยันควรได้ 60% ของค่าตอบแทนแพทย์ เห็นด้วยทำพีฟอร์พีลดความเหลื่อมล้ำ

วันนี้ (21 มิ.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่แพทย์ชนบทระบุว่าหากแนวทางการจ่ายค่าเยียวยาชดเชยไม่แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.อาจจะมีการเคลื่อนไหว ว่า เขาคงไม่พูดถึงขนาดนั้น เพราะถ้าพูดอย่างนั้นก็เหมือนกับการเอาเงินเป็นตัวตั้ง การชดเชยกระทวรงสาธารณสุขก็แสดงให้เห็นแล้วว่าจะชดเชยจริงๆ ถ้าจะช้าก็คงไม่ช้าไปเป็นเดือน เพียงแต่วันนี้ต้องมาพูดมาตรการก่อน น่าจะสามารถยอมรับกันได้

 “ได้ตกลงกันแล้วว่าจะมีการทำงานแบบมีตัวชี้วัดทั้งระดับองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน และค่าตอบแทนตามปริมาณ คุณภาพงาน โดยให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นผู้คิดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและให้เป็นไปตามตัวกำหนดภาพรวมของ สธ. แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเพราะเป็นโรงพยาบาลคนละระดับ ทั้งนี้ตัวชี้วัดที่ได้ต้องนำมาเสนอเพื่อทำเป็นกติกากลางที่ใช้ร่วมกัน”นพ.ประดิษฐ กล่าว

ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานฯนัดที่ 2 ว่าได้มีการพูดคุยใน 3 ประเด็น 1. เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในภายในสัปดาห์หน้า แต่ยังคงต้องคุยกันถึงรายละเอียดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปเนื่องจากบางวิชาชีพทำพีฟอร์พีแล้วอาจได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควรก็จะได้รับค่าชดเชยในส่วนต่างที่หายไป 2. เรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานทางชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอว่าต้องพิจารณาตัวแปรให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่โดยหลังจากนี้การประเมินผลจะต้องเชื่อมโยงไปยังโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อรองรับระบบสุขภาพที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น การส่งต่อ ซึ่งจะเป็นผลดี เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำ 3. มีการเสนอให้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าไปดูระบบประเมินผลและการจ่ายค่าชดเชย อย่างไรก็ตามตัวเลขการชดเชยเยียวยาไม่มีปัญหาเพราะว่าเป็นการกลับไปใช้แนวทางเดิม โดยต้องจ่ายค่าชดเชยในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนประมาณ 500 ล้านบาท

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า มีพยาบาลโทรศัพท์มาสอบถามกับตนว่าทำไมในร่างข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนฉบับใหม่ คือ ฉบับที่ 10 ซึ่งเสนอโดยชมรมแพทย์ชนบทพยาบาล พยาบาลได้รับค่าตอบแทนเพิ่มอีก 500-700 บาทจากเดิมได้รับ 4,500 บาทรวมเป็น 5,200บาท ในขณะที่แพทย์ยังคงได้ 7 หมื่นบาท ทั้งที่ภาระงานของพยาบาลมีจำนวนมาก และค่าตอบแทนดังกล่าวไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพได้ ซึ่งที่พยาบาลพูดคุยกันคืออย่างน้อยต้องได้ประมาณ 60% ของแพทย์

 “ถ้าจะมาบอกว่าพยาบาลได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นมากไม่ได้หรอกเพราะมีคนเยอะคงไม่ถูก ดังนั้นข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบทจึงไม่เห็นด้วยกับอัตราที่แพทย์ชนบทเสนอ เพราะไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากฉบับที่ 8 แพทย์ถูกปรับค่าตอบแทนลงประมาณ 5,000-10,000 บาท แต่เขาก็เอากลับมาให้ได้เท่าเดิมหมดทุกอย่าง แล้วมาบอกว่าเภสัชกรควรเพิ่ม 800-900 บาท พยาบาล 500-700 บาท ทั้ง ๆ ที่พยาบาลก็ทำงานคู่กับแพทย์ โดยเฉพาะพื้นที่ธุรกันดารที่ขาดแคลนแพทย์ พยาบาลก็รองรับงานของแพทย์ ปฏิบัติงานแทนแพทย์ 24 ชม. แล้วทำไมแพทย์ต้องได้มากกว่าพยาบาล 20 เท่าในพื้นที่เดียวกัน ที่ผ่านมาเพราะค่าตอบแทนห่างกัน 27 เท่าจึงมีการปรับลดและทำพีฟอร์พี ซึ่งพยาบาลก็ยินดีที่จะทำพีฟอร์พีเพราะนี่คือความยุติธรรมและตรงไปตรงมา ใครทำมากก็ได้มาก แต่ฉบับที่ 10 ทำไมปรับปรุงแล้วไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ” ดร.กฤษดา กล่าว

ดร.กฤษดา กล่าวต่อว่า การที่แพทย์ชนบทบางคนบอกว่าถ้าข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 10 ไม่ผ่านเพราะตนนั้น ก็อยากจะบอกว่าก็เพราะพยาบาลได้เพิ่มแค่ 500-700 บาท ซึ่งยังไม่มีความเป็นธรรม แล้วคิดว่าสังคมควรจะให้ผ่านหรือไม่

ที่มา: http://www.dailynews.co.th